วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) เชียงใหม่

วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) เป็นวัดเก่าแก่ ที่มีความสวยงามมาก ตั้งอยู่ที่ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ตั้งของวัดอยู่ไม่ไกลกับวัดอุโมงค์ และ โครงการบ้านข้างวัด วัดร่ำเปิง เป็นวัดที่มีชื่อเสียงด้านการปฏิบัติธรรม และ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยจะมีที่พักในวัดให้กับผู้ปฏิบัติธรรม ระยะเวลาในการปฏิบัติธรรม ตั้งแต่ 3 วัน ไปจนถึง 1 เดือน โดยจะมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากในช่วงปฏิบัติธรรม สำหรับผู้ที่สนใจ ทางวัดรับผู้ปฏิบัติธรรมชาย – หญิง รวมถึงชาวต่างชาติ

วัดร่ำเปิงยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติฯ ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2542 และสำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ปี พ.ศ. 2547

ประวัติวัดร่ำเปิง

ในสมัยพระเจ้าติโลกราช (ราชวงศ์มังรายองค์ที่ 9) ปกครองเมืองเชียงใหม่ ท่านมีพระราชโอรสนามว่า ท้าวศรีบุญเรือง ต่อมามีคนกล่าวหาว่าท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการจะกบฏ พระเจ้าติโลกราชจึงแก้ไขสถานการณ์ด้วยการให้ไปปกครองเมืองเชียงแสนและเชียงรายแทน ต่อมา ท้าวศรีบุญเรือง มีพระราชโอรส ซึ่งประสูติบนยอดเขาสูงในเชียงราย ท่านได้ประทานนามพระราชโอรสว่า “พระเจ้ายอดเชียงราย” จนกระทั่งวันหนึ่ง พระเจ้าติโลกราชถูกเพ็ดทูลจากนางหอมุข พระสนมเอกว่าท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการก่อกบฏอีก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระราชโอรสเสีย และหลังจากนั้นโปรดให้ราชนัดดา คือ พระเจ้ายอดเชียงราย ครองเมืองเชียงรายสืบต่อมา

เหตุการณ์หลังจากนั้น มีพระธุดงค์รูปหนึ่งปักกลดตรงบริเวณวัดร่ำเปิงในปัจจุบัน ท่านทูลพระเจ้ายอดเชียงรายว่าเมื่อตอนกลางคืน ท่านเห็นรัศมีสว่างบริเวณต้นมะเดื่อซึ่งไม่ห่างจากที่ท่านปักกลด จึงสงสัยว่าน่าจะมีพระธาตุประดิษฐานอยู่บริเวณดังกล่าว เมื่อพระเจ้ายอดเชียงรายทราบดังนี้ จึงอธิษฐานว่า ถ้าที่แห่งนั้นมีพระบรมธาตุฝังอยู่ ขอให้ช้างพระที่นั่งที่ท่านกำลังทรงไปหยุด ณ ที่แห่งนั้น จากนั้นช้างเดินไปหยุดที่ใต้ต้นมะเดื่อ พระองค์จึงขุดดินบริเวณนี้และพบพระเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ในผอบดินแบบเชียงแสน พระองค์จึงทรงทำพิธีสมโภช และอธิษฐานขอเห็นอภินิหารของพระบรมสารีริกธาตุนั้นจากนั้นจึงบรรจุลงในผอบทอง แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ในบริเวณนั้น และจารึกประวัติหารสร้างวัดนี้ลงในศิลาจารึกเป็นตัวหนังสือฝักขาม แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “วันศุกร์ขึ้นสามค่ำเดือนเจ็ด ปีชวด พุทธศักราชสองพันสามสิบหาปี เวลา 08.20 น. ได้ฤกษ์ภรณี (ดาวงอนไถ) ได้โยคมหาอุจจ์” โดยมีพระนางอะตะปาเทวี ซึ่งเป็นพระมเหสี ดำเนินการสร้างแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งที่เป็นพระมหาเถระและผู้สร้างฝ่ายอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นประธาน และพระพุทธรูปตามซุ้มที่พระธาตุเจดีย์กับได้สร้างพระไตรปิฏกและพระราชทานทรัพย์ (นา) เงิน (เบี้ย) เป็นจำนวนมหาศาล

จากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ทหารญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาพื้นที่วัดและลักลอบขุดพระธาตุเจดีย์ได้นำวัตถุโบราณและพระพุทธรูปไป ส่วนอุโบสถ และวิหาร ชำรุดทรุดโทรมลง วัดนี้จึงร้างมาหลายยุคสมัย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้สร้างพระวิหารขึ้นใหม่ จากนั้นอาราธนาพระภิกษุชาวบ้านร่ำเปิงรูปหนึ่งชื่อ หลวงปู่จันทร์สม หรือ ครูบาสม มาปกครองดูแลวัดจนวิหารสร้างเสร็จเสร็จในปี พ.ศ. 2516 ในปีเดียวกัน ท่านถึงแก่มรณภาพ วัดจึงขาดพระจำพรรษาจนถึงปลายปี 2517

ส่วนวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธานนั้นมีต้นไม้ขึ้นรกปกคลุมมาก แผ่นศิลาจารึกได้จมดินอยู่ในวิหาร ปี พ.ศ. 2484 คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ประชุมตกลงกันให้อัญเชิญพระประธานไปประดิษฐานไว้ ณ ด้านหลังพระวิหารวัดพระสิงห์วรมหาวิหารในจังหวัดเชียงใหม่ และได้ร่วมกับกรรมการวัดทั้งผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ทำการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2515

เมื่อปี พ.ศ. 2519 มีการสร้างอุโบสถที่มีอยู่ในเลา มีผู้มีจิตศรัทธาช่วยซ่อมให้ได้ใช้ในการปฏิบัติสังฆกรรมมาจนถึงปัจจุบัน พระพุทธรูปพระประธานนั้นมีอายุประมาณ 700-800 ปี และมีชื่อว่า หลวงพ่อศรีอโยธยา

พระครูพิพัฒน์คณาภิบาล (ทอง สิริมงคโล) เป็นเจ้าอาวาสวัดเมืองมางและเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระประจำสำนักวัดเมืองมาง ได้ธุดงค์วัตรมาปักกลดอยู่บริเวณวัดร่ำเปิงนี้ ได้เล็งเห็นว่าสถานที่เหมาะแก่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงมีโครงการที่จะขยายงานวิปัสสนากรรมฐานขึ้นอีกแห่งหนึ่งจึงได้มาจำพรรษาอยู่ทีวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) แห่งนี้ และชักชวนชาวบ้าน ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์ฟื้นฟูขึ้นจนสำเร็จ

ในปี พ.ศ. 2533 ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์จากพระครูชั้นพิเศษเป็นพระราชคณะที่ราชทินนาม “พระสุพรหมยานเถร” และในปี พ.ศ. 2534 พระครูภาวนวิรัชได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ใหม่ โดยท่านเจ้าอาวาสรูปใหม่ ท่านสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านเจ้าคุณฯ พระอาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส อีกทั้งได้ก่อสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม 3 ชั้น เพื่อส่งเสริมในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยเฉพาะในด้านพระอภิธรรม นอกจากนี้ได้สร้าง อาคาร “80 ปี พระราชพรหมาจารย์” ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน

ข้อคววรทราบก่อนเข้าวัด

วัดร่ำเปิงเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ควรแต่งกายด้วยความเหมาะสม งดส่งเสียงดัง และ งดทำกิจกรรมที่รบกวนผู้ปฏิบัติธรรม

ภายในวัดเงียบสงบ และร่มรื่นมาก มีผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งชาวไทย และ ชาวต่างชาติ อยู่กระจายในพื้นที่ของวัด

ศาลาวัดมีผู้ปฏิบัติธรรมเดินจงกรม

สิ่งก่อสร้างในวัด มีความสวยงามตามแบบฉบับวัดเก่าเชียงใหม่ และได้รับการดูแลอย่างดี

ทางเข้าไปในศาลา

ซุ้มบันได “มกรคายนาค” ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็น “พญานาค” ออกมาจาก “มกร” (มะกะระ)

ในรูปด้านบน รอบพระธาตุเจดีย์ เป็นจุดที่มีผู้ปฏิบัติธรรมเดินจงกรม และนั่งสมาธิ โดยจะใส่ชุดขาวทั้งชาย และ หญิง

 

ติดต่อวัด
เวลาทำการของสำนักงาน : 7.00 – 17.00 น.
ที่ตั้ง – วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม)
ที่อยู่ :
เลขที่ 1 หมู่ 5 ต. สุเทพ อ. เมือง จ. เชียงใหม่ 50200
เบอร์โทรศัพท์ :
  • สำนักงานแม่ชี 053 278 620 ต่อ 109, 062-216 8339
  • สำนักงานสงฆ์ 053 278 620 ต่อ 102, 065-032 7592
  • สำนักงานฝ่ายต่างประเทศ 082 1857 701
แผนที่ : Google map
การเดินทาง
รถยนต์ : ใช้ได้สองเส้นทางจากถนนห้วยแก้ว และ ถนนเลียบคลองชลประทาน ทางค่อนข้างซับซ้อนสำหรับคนไม่เคยมา ควรใช้ GPS นำทาง จอดรถได้ที่หน้าวัด
รถโดยสาร : โบกรถแดงจากในตัวเมือง คนละ 30 บาท หรือ ตามแต่จะตกลงกัน

Post Views 156

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *