อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์

ประจวบคีรีขันธ์ / อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ

อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ที่นี่เป็นสวรรค์ของคนที่รักวิทยาศาสตร์ ตั้งอยู่ริมทะเลอ่าวหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ ห่างจากอ่าวมะนาว ประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้ความรู้ ภายในมีพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ อาคารดาราศาสตร์ หาดหว้ากอ รถจักรไอน้ำโบราณ และ อนุสาวรีย์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ

เมื่อก่อน หว้ากอ เป็นชื่อหมู่บ้าน ในตำบลคลองวาฬ ซึ่งเคยเป็นสถานที่ที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้ทรงคำนวณไว้ว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง สามารถมองเห็นได้ชัดเจนที่นี่ ในวันที่ 18 สิงหาคม 2411 ทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรสุริยุปราคา ณ ที่แห่งนี้พร้อมพระราชโอรส พระราชธิดา ข้าราชบริพาร ตลอดจนทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าให้ชาวต่างประเทศได้มีโอกาสร่วมชมปรากฎการณ์ครั้งนี้ด้วย

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประชวรด้วยไข้มาเลเรียและเสด็จสวรรคต อันเนื่องมาจากเสด็จหว้ากอในครั้งนั้น และแล้วค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ ณ บ้านหว้ากอ ก็ถูกลืมและทิ้งให้ปรักหักพังไปตามสภาพ ต่อมาในปี พ.ศ.2536 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งเป็นสถานศึกษา เพื่อเทิดพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสนองนโยบายการกระจายโอกาสในการเรียนรู้ ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีดาราศาสตร์ อวกาศ และสิ่งแวดล้อม แก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วประเทศ

ภายในอุทยานฯ แห่งนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มการเรียนรู้ด้วยกัน ได้แก่

  • พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหว้ากอ

เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานวิทยาศาสตร์ ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการและจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลายสมจริงตามระบบนิเวศของแหล่งน้ำ มีสื่อบรรยายความรู้ ผู้ชมสามารถศึกษาหาความรู้ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เรียนรู้เกี่ยวกับนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งแหล่งน้ำจืด แหล่งน้ำกร่อย และทะเล และยังมีอุโมงค์ปลาใต้น้ำ ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้และเห็นถึงความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตในแต่ละระดับความลึกของน้ำราวกับอยู่ใต้ท้องทะเลลึก

อุโมงค์ปลา

อุโมงค์ปลา ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกใต้น้ำ

การแสดงให้อาหารปลา

ปลาดุกหางควาย

ปลาดุกหางควาย ซ่อนตัวในพื้นทราย กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม

บ่อแมงดาทะเล และลูกปลาฉลาม

ปลาดาว หรือ ดาวทะเล หอยแครงที่เห็นอยู่ในบ่อปลาดาว เป็นอาหารของปลาดาว หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าปลาดาวเป็นสัตว์นักล่า กินหอยสองฝา หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม, กุ้ง และ ปู เป็นอาหาร

บ่อปลาทะเลน้ำลึก

บ่อเต่า

  • อาคารดาราศาสตร์ และ อวกาศ

เป็นอาคารแฝด 3 หลัง มีจำนวน 2 ชั้น และมีทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน ภายในจัดแสดงนิทรรศการทางด้านดาราศาสตร์ อวกาศ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ตลอดจนนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระอัจฉริยภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

  • สวนผีเสื้อ

มีผีเสื้อพันธุ์พื้นเมืองให้ชมมากกว่า 20 ชนิด บรรยากาศภายในสวนร่มรื่น ซึ่งจะได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของผีเสื้อครบทั้ง 4 ระยะ นอกจากนี้ยังมีศาลาแห่งชีวิตและมีตัวอย่างผีเสื้อที่เก็บรักษาไว้ให้ได้ศึกษา

สำหรับผู้สนใจกิจกรรมค่ายพักแรมทางอุทยานมีการจัด กิจกรรมค่ายหว้ากอ เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายสิ่งแวดล้อม ค่ายสอนน้องดูดาว ค่ายปักษี ค่ายสำหรับเด็กพิการ ค่ายอนุรักษ์พลังงาน มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น ดูนก ดูดาว Walk Rally กิจกรรมชายหาด กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ รวมทั้งยังมีที่พักรองรับได้ประมาณ 120-200 คนและเต็นท์พักแรมไว้คอยบริการ

สถานที่น่าสนใจอื่นๆ ในอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ

  • หาดหว้ากอ

หาดหว้ากอ

เป็นชายหาดที่ติดกับหาดคลองวาฬ อยู่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหว้ากอ มีร่มเงาต้นสนริมหาด เหมาะสำหรับเดินเล่นและถ่ายรูป แต่หาดนี้ห้ามลงเล่นน้ำ

  • รถจักรไอน้ำ “บอลด์วิน”หมายเลข 226

เป็นรถที่ กรมรถไฟฯ สั่งซื้อจากบริษัท Baldwin Locomotive Works U.S.A. นำมาใช้การในปี พ.ศ. 2468 เป็นรถจักรชนิด 3 สูบ ใช้ไอที่ผ่าน Superheater แล้ว (ไอแห้ง) มาดันลูกสูบแบบล้อ 4-6-2 (แปซิฟิก) ใช้วิ่งในทางขนาดกว้าง 1 เมตร เลิกใช้การเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2497 มีอายุใช้การประมาณ 30 ปี

ประวัติความสำคัญของหัวรถจักรไอน้ำคันนี้ ยังมีตรา “ปปร” และ “รพ.” ปรากฏอยู่เป็นสัญญลักษณ์ เนื่องจากหัวรถจักรคันนี้ ได้เคยใช้ทำการลากจูงขบวนรถพระที่นั่ง ของพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จไปประกอบพระราชพิธีเปิดสะพานพระราม 6 เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2469

รถจักรไอน้ำ

  • รถจักรดีเซลไฟฟ้า “ฟริกซ์” เลขที่ 556

รถจักรดีเซลไฟฟ้า “ฟริกซ์” เลขที่ 556 ใช้เครื่องยนต์ AS Frichs 2 เครื่อง ๆ ละ 450 แรงม้า กรมรถไฟฯ สั่งซื้อจากบริษัท AS Frichs Denmark นำมาใช้การในปี พ.ศ. 2474 แบบล้อ 2-D-2 ใช้ในทาง ขนาดกว้าง 1 เมตร เลิกใช้การ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2505 อายุการใช้งานประมาณ 31 ปี

รถจักรดีเซลไฟฟ้า

  • อนุสาวรีย์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ

สร้างขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถและวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยพระองค์ ทรงคำนวณล่วงหน้าไว้ถึง 2 ปีว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ผ่านมาใกล้ที่สุด ณ บ้านหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ในวันอังคาร เดือน 9 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช 1230 หรือ ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม 2411

อนุสาวรีย์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ

การเข้าชมในอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ เหมาะสำหรับคนที่รถ แต่ละสถานที่อยู่ห่างกันพอสมควร ถ้าต้องการชมทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง

การเข้าชม
เวลาทำการ : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 16.00 น.
ช่วงเวลาเที่ยว : ตลอดทั้งปี
ค่าเข้าชม

  • ผู้ใหญ่ 30 บาท
  • เด็ก 20 บาท ( สูงไม่เกิน 120 ซม. )
  • พระภิกษุ สามเณร ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ต่างๆ ไม่ต้องเสียค่าเข้า
ที่ตั้ง – ติดต่ออุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ
ที่อยู่ :
181 ม. 4 ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ 77000
เบอร์โทรศัพท์ : 032-661098 หรือ 032-661726 ต่อ 0
เวบไซต์ : www.waghor.go.th
การเดินทาง
รถยนต์ : โดยรถส่วนบุคคล สามารถเลือกเดินทางได้ 2 เส้นทางคือ

เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ (ทางหลวงหมายเลข 35) ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี เข้าสู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เส้นทางที่ 2 จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายปิ่นเกล้า -นครชัยศรี (ทางหลวงหมายเลข 4) ผ่านพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี เข้าสู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
การเดินทางเข้าสู่อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ทำได้โดยขับรถไปตามถนนเพชรเกษม จากสี่แยกประจวบฯ ลงไปทางใต้ อีกประมาณ 16 กิโลเมตร จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 335 เลี้ยวซ้ายเข้าสู่บ้านหว้าโทน ขับตามทางเข้ามาอีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร และข้าม ทางรถไฟเข้าสู่อุทยานฯ หรือ จากสี่แยกประจวบฯ หลักกิโลเมตรที่ 323 เลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองประจวบฯ ขับรถตามถนนสละชีพ ผ่านกอง บิน 5 (อ่าวมะนาว) จนถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ (แยกไฟแดงคลองวาฬ) เลี้ยวซ้ายเข้าสู่หมู่บ้านคลองวาฬ ขับ รถตามทางจนถึงอุทยานฯ (เส้นทางจากกองบิน 5 – อุทยานฯ ประมาณ 10 กม.)

รถโดยสาร : จากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี (ถนนบรมราชชนนี) มีบริการรถโดยสารสายกรุงเทพฯ – ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประจำทุก วัน โดยสามารถเลือกเดินทางได้ทั้งรถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 และรถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งสาย ใต้ใหม่ โทร. 0-2434-7192 หรือ 0-2435-1195 แล้วเดินทางต่อไปยังอุทยานฯ โดยรถจักรยานยนต์รับจ้าง

Post Views 8512

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *