ชมพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม พระราชวังสวยใกล้กรุงเทพฯ
ถ้าพูดถึงจังหวัดนครปฐม 2 อย่างแรกที่นึกถึง คือ พระราชวังสนามจันทร์ และ องค์พระปฐมเจดีย์ ถ้าใครได้ติดตามรีวิวผมมาตลอดจะทราบว่าเมื่อปีก่อนผมเคยไปที่พระปฐมเจดีย์มาแล้ว แต่ว่าตอนนั้นพระราชวังสนามจันทร์ปิด เลยไม่ได้เข้าไป
แต่ครั้งนี้มาเที่ยวนครปฐม พระราชวังสนามจันทร์เปิดให้เข้าชมได้ตามปกติ เลยถือโอกาสนี้ถ่ายรูป รีวิว และเล่าประวัติความเป็นมาพอสัังเขปเกี่ยวกับพระราชวังแห่งนี้
การเดินทางมาพระราชวังสนามจันทร์
ก่อนอื่นขอบอกการเดินทางมายังพระราชวังสนามจันทร์ก่อน ให้ใช้ถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าเข้าตัวเมืองนครปฐม ตรงมาเรื่อยๆ จนเจอพระปฐมเจดีย์อยู่ข้างหน้า ให้เลี้ยวซ้าย และเลี้ยวขวาที่สี่แยกไฟแดง วิ่งตรงมาไม่ไกลจะเห็นสีแยกเล็กๆ ให้เลี้ยวขวาไปทางเดียวกับ ม.ศิลปกร ขับรถไปจนสุดซอยก็จะเจอกับพระราชวังสนามจันทร์ ทางซ้ายมือของทางเข้าจะเป็นที่จอดรถ จอดได้หลายคัน จอดฟรี ไม่เสียค่าจอด
ตรงทางเข้าจะมีที่จำหน่ายบัตรเข้าชมพระราชวัง ถ้าเราชมแต่ด้านนอกไม่ได้เข้าในตัวพระราชวังจะไม่เสียค่าเข้าชม แต่ถ้าจะชมด้านในพระราชวัง ผู้ใหญ่เสีย 30 บาท, เด็กนักเรียน – นักศึกษา 10 บาท, ชาวต่างชาติ 50 บาท
เนื่องจากว่าเราอยากจะชมความงามในพระราชวังด้วย เลยเสียไปคนละ 30 บาท
ใครที่มากับผู้สูงอายุ ไม่สะดวกในการเดิน ติดต่อรถกอล์ฟได้ที่ด้านหน้า ถ้าผมจำไม่ผิด ค่าบริการคันละ 300 บาท / ชั่วโมง
การเข้าชมในพระราชวังสนามจันทร์ แนะนำให้เดินเป็นวนไปทางขวาก่อน แล้วค่อยวกกลับมาชมพระราชวังฝั่งทางด้านซ้าย
พระราชวังสนามจันทร์ เป็นพระราชวังที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนบริเวณที่คาดว่าเป็นพระราชวังเก่าของกษัตริย์สมัยโบราณที่เรียกว่า เนินปราสาท สันนิษฐานว่าเดิมคงเคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์ในสมัยโบราณ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระราชวังที่ประทับขึ้น ณ เมืองนครปฐม สำหรับเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในโอกาสเสด็จฯ มาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ และเพื่อประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบท
พระราชวังแห่งนี้ใช้เวลาสร้างอยู่ 4 ปี โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มีหลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลป์) ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯเลื่อนยศเป็นพระยาวิศุกรรม ศิลปประสิทธิ์ เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้าง
ศูนย์อาหารในพระราชวังสนามจันทร์
รถรางนำเที่ยวฟรี ไม่แน่ใจว่าวันนึงมีกี่รอบ วันที่เราไปเห็นจอดอยู่ ไม่วิ่งแล้ว
พระตำหนักแรกที่เราได้ชม คือ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักสีไข่ไก่ สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างศิลปะเรอเนซองส์ของฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ของอังกฤษ และดัดแปลงให้เข้ากับสภาพอากาศที่ประเทศไทย สังเกตที่ช่องประตูและหน้าต่างจะมีค่อนข้างเยอะ เนื่องจากบ้านเราเป็นเมืองร้อน ต้องมีช่องให้ลมไหลผ่าน
โดยส่วยตัวแล้วผมว่า พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ สวยที่สุดในพระราชวังสนามจันทร์แล้วครับ
การเข้าชมด้านใน พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ต้องถอดรองเท้า ฝากสิ่งของ กระเป๋าถือทุกชนิดห้ามนำเข้าไป ต้องนำของมีค่าฝากไว้ที่ Locker ด้านหน้าทางเข้า และภายในพระตำหนักห้ามถ่ายรูปโดยเด็ดขาด
ภายในพระตำหนักมีรูปภาพเก่าๆ สิ่งของเครื่องใช้เช่น กลอนประตู ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟจัดแสดงให้ชม ภายในห้องต่างๆ มีการจำลองบรรยากาศให้เหมือนเดิม มีชุดแต่งกายในสมัยก่อนจัดแสดงอยู่ในตู้กระจก
ที่ด้านหน้าของ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ มีอนุสาวรีย์ “ย่าเหล” ย่าเหล เป็นสุนัขที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยง และทรงโปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง ได้ถูกลอบยิงตาย รัชกาลที่ 6 ทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานศพ และสร้างอนุสาวรีย์ย่าเหลขึ้น
อนุสาวรีย์ ย่าเหล
รอบๆ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่
สะพานทางเดินที่เห็นในรูปเป็นสะพานทางเดิน ข้ามคูน้ำ เชื่อมไปยังพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
เราสามารถเดินจากพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ไปยัง พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ ได้เลยครับ แต่ชมเสร็จก็ต้องเดินย้อนกลับมาเอารองเท้าที่เดิม
เดินออกจากพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ไปทางซ้ายก็จะเจอกับ พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งองค์แรกในบริเวณของพระราชวังสนามจันทร์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2450
ลักษณะพระที่นั่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สีขาว – เขียว ที่ช่องระบายลมและระเบียงลูกกรงแกะสลักเป็นลวดลายตามแบบขนมปังขิง ดูแล้วสถาปัตยกรรมคล้ายกับพระราชวังบนเกาะสีชัง พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับ ที่ทรงพระอักษร ที่เสด็จออกขุนนาง ที่รับรองพระราชอาคันตุกะ และที่ออกให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ
การเข้าชมในพระที่นั่งพิมานปฐม ก็ต้องฝากของทุกอย่างและถอดรองเท้าไว้ที่ด้านล่าง
ภายในในพระที่นั่งพิมานปฐมมีห้องอยู่หลายห้อง เช่นห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องภูษา ห้องเสวย และห้องพระเจ้า เป็นหอพระที่มีความงดงามมาก มีภาพเขียนจิตกรรมฝาผนังพระพุทธศาสนา
บริเวณชั้น 2 ของ พระที่นั่งพิมานปฐม มีทางเดินมายัง พระที่นั่งวัชรีรมยา พระที่นั่งที่มีรูปร่างคล้ายกับวัด
และถัดจาก พระที่นั่งวัชรีรมยา เป็น พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ (รูปบน) ทั้งสองพระที่นั่งนี้มีหลังคาเชื่อมโยงกัน พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์เป็นพระที่นั่งโถงใหญ่ในพระราชวังสนามจันทร์ แต่ไม่ได้เปิดให้เข้าชมภายในนะครับ ชมได้แต่ด้านนอก
ที่ด้านหลังพระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นโรงรถเก่า มีรถม้าอยู่หลายคัน ดูจากรูปร่างของรถแล้วน่าจะนำเข้าจากยุโรป อายุน่าจะเป็นร้อยปีแล้ว ต้องมองทะลุกระจกเข้าไปถึงจะเห็น
ศาลากลางน้ำ มีอาหารปลาขาย ให้อาหารปลาได้ครับ มีปลาเยอะมาก ตัวใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลย
ฝูงเป็ดว่ายน้ำ
ตรงกลางสนามหญ้าพระที่นั่งสนามจันทร์ เป็นที่ตั้งของ เทวาลัยคเณศร์ หรือ ศาลเทพารักษ์ เป็นที่ประดิษฐานพระคเณศร์ หรือพระพิฆเนศวร ซึ่งนับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง
ที่บริเวณใกล้กับประตูทางเข้า / ออกมีพระตำหนักเรือนไทยอีกหนึ่งหลัง ชื่อ พระตำหนักทับขวัญ เป็นเรือนไทยภาคกลางที่สมบูรณ์แบบทางสถาปัตยกรรม
นายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระตำหนักคือ พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี)
ก่อนจะไปชมพระตำหนักสุดท้ายเราต้องข้ามสะพานนี้ไปก่อนครับ “สพานสุนทรถวาย” สังเกตชื่อสะพานนะครับจะไม่มีสระอะ คงเป็นภาษาเขียนในสมัยก่อน
เดินชมรอบพระราชวังสนามจันทร์ได้ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้ว ก็มาถึงพระตำหนักสุดท้าย พระตำหนักทับแก้ว
พระตำหนักทับแก้ว เป็นพระตำหนักที่ดูเรียบง่ายที่สุด เป็นอาคารตึก 2 ชั้น ล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่ เคยเป็นที่ประทับในฤดูหนาว ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ภายในมีเตาผิงปล่องไฟ แบบบ้านตะวันตก
ปัจจุบันพระตำหนักทับแก้ว ได้จัดแสดงเป็น พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม
และแล้วเราก็ชมพระราชวังสนามจันทร์ครบทุกพระตำหนัก พระที่นั่งแล้วครับ รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ ไปกับประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมแบบไทย, ยุโรป ในพระราชวังสนามจันทร์ ด้วยค่าเข้าชมเพียง 30 บาท ผมว่าคุ้มมากๆ ครับ หากใครไม่ค่อยมีเวลาไปเที่ยวไหนไกลๆ ลองมาเที่ยวนครปฐม ชมพระปฐมเจดีย์ พระราชวังสนามจันทร์ แบบเช้าไป เย็นกลับ แล้วจะรู้ว่า จ.นครปฐม ก็มีอะไรดีๆ ให้เที่ยวได้เยอะ
การเข้าชม |
เวลาทำการ : | ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ปิดขายบัตรเวลา 15.30 น. |
ช่วงเวลาเที่ยว : | ตลอดทั้งปี |
ค่าเข้าชม
|
ที่ตั้ง – ติดต่อ |
ที่อยู่ : |
ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000 |
เบอร์โทรศัพท์ : | 0-3424-4236-9 |
การเดินทาง |
รถยนต์ : | จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4 ถึงจังหวัดนครปฐม แยกขวาเข้าพระราชวังสนามจันทร์ |
รถโดยสาร : | จากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ นั่งรถสายกรุงเทพฯ – สุพรรณบุรี (รถปรับอากาศชั้น 2 สายเก่า) / กรุงเทพ-ดำเนินสะดวก / กรุงเทพ-ราชบุรี (รถปรับอากาศชั้น 2)/กรุงเทพ-กาญจนบุรี (รถปรับอากาศชั้น 2)ไปลงที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร (นครปฐม) จากนั้นเดินเท้าประมาณ 400 เมตร จะถึงพระราชวังสนามจันทร์ |
Post Views 62527