เขาวัง พระนครคีรี พระราชวังบนภูเขาแห่งแรกของไทย
เพชรบุรี / เขาวัง พระนครคีรี พระราชวังบนภูเขาแห่งแรกของไทย
ทริปเขาวัง พระนครคีรี เกิดขึ้นจากผมมางานแต่งเพื่อนที่เพชรบุรี เลยจอง โรงแรมรอยัล ไดมอน ที่อยู่ในตัวเมืองเพชรบุรี แล้วโรงแรมนี้อยู่ใกล้เขาวังมาก ขับรถไปก็ประมาณ 5 นาทีได้มั้ง เลยลองหาข้อมูลในเนตดู พบว่าไม่ค่อยมีคนไปซักเท่าไหร่ เลยตั้งใจเอาไว้ว่า กลับมาจากไปเที่ยวเขาวังแล้ว จะกลับมาเขียนรีวิวดีๆ ให้เป็นข้อมูลสำหรับคนที่จะไปเที่ยว
หลายคนเข้ามาเที่ยวที่เขาวังแล้ว อาจจะคุ้นเคยกับสถานที่ เพราะที่นี่เป็นที่ถ่ายหนังจักรๆ วงศ์ๆ อยู่หลายเรื่อง
เขาวัง หรือชื่อที่เป็นทางการคือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เป็นโบราณสถานคู่บ้าน คู่เมืองเพชรบุรี เป็นพระราชวังที่ตั้งอยู่บนยอดเขา 3 ยอด เดิมชาวบ้านเรียกภูเขานี้ว่า “เขาสมน”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระสมุหกลาโหมเป็นแม่กองก่อสร้าง จนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2403 ทรงพระราชทานนามว่าพระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรบุรีเรียกกันติดปากว่าเขาวัง สืบมาจนบัดนี้
การเดินทางขึ้นไปยังเขาวัง แต่ก่อนต้องเดินขึ้นไปอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้มีตัวเลือกเพิ่มขึ้นมา สำหรับคนที่ไม่สะดวกเดินขึ้นบันไดก็ใช้บริการรถรางไฟฟ้า (เคเบิ้ล คาร์) ได้ครับ
มาถึงแล้วก็จอดรถด้านหน้าได้เลยครับ
รถรางไฟฟ้า ขึ้นเขาวัง สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2532 โดย บ.เพชรบุรีท่องเที่ยวฯ จำกัด
ที่ด้านหน้าของสถานีรถราง เป็นร้านค้า ขายของฝากเพชรบุรี หลายอย่าง เที่ยวเขาวังเสร็จ ซื้อของฝากกลับบ้านได้เลย
เราไปถึงเขาวังบ่ายแก่ๆ มองหาร้านอาหารแถวสถานีรถราง ก็มาเจอกับร้านนี้ครับ “คิงคอง สเต็ก & สปา” ขายอาหารฝรั่งแนวสเต็ก ด้านหลังของร้านเป็นสปา ราคาอาหารที่ร้านนี้ไม่แพงครับสเต็กเริ่มต้นที่ 60 กว่าบาท ไปถึง 120 กว่าบาท เมื่อทานจนอิ่มก็พร้อมที่จะเดินทางไปยังด้านบนเขาวังแล้ว
เดี๋ยวเราจะซื้อตั๋วขึ้นรถรางก่อนนะครับ ผู้ใหญ่ราคา 40 บาท, เด็ก 15 บาท, เด็กสูงไม่ถึง 90 ซ.ม. ขึ้นฟรี ราคาตั๋วนี่เป็นราคา ไป-กลับ
รถรางไฟฟ้าเปิดให้บริการทุกวัน 8.30 – 16.30 น
ตั๋วพร้อมแล้ว เดินไปขึ้นรถรางกันเลยครับ
ยืนรออยู่แปปเดียวรถรางก็มารับแล้ว
ในรถรางไฟฟ้าจะมีที่นั่งอยู่ 4 แถว แถวนึงน่าจะนั่งได้ 5-6 คน ตอนที่เราขึ้นไปนั้นไม่มีคนอื่นขึ้นด้วย สงสัยเค้าคงนิยมขึ้นกันช่วงเช้า เที่ยวนี้เลยมีเราเพียง 2 คน เหมือนเป็นแขก VIP เลยครับ
รางรถไฟฟ้าจะเป็นแบบรางเดียว วิ่งได้ทีละคัน ที่ตรงกลางทางจะมี 2 รางไว้สับขบวน สวนกันระหว่างรถขึ้น กับรถลง ข้างๆ รางเป็นป่า มีต้นไม้ขึ้นเต็ม
ระหว่างทางที่จะถึงด้านบน เราจะเห็นวิวเมืองเพชรบุรี รถรางไฟฟ้าใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น ถ้าเดินเองคงมี 15 นาทีขึ้น
ตอนนี้เราก็มาถึงด้านบนแล้ว ที่เรายืนอยู่นี้จะเป็นยอดเขาทางทิศตะวันตก
ก่อนที่จะเข้าชมภายในเขาวังมีคำแนะนำเล็กๆ น้อยมาบอกกันก่อนครับ
บนเขาวังมีลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ที่นี่มีกฏอยู่ว่าห้ามให้อาหารลิงในเขตโบราณสถาน และไม่ควรนำอาหารขึ้นมาด้วยเพราะจะถูกลิงแย่งชิง อาจได้รับอันตรายได้ ลิงเป็นสัตว์ที่จมูกไวครับ ถึงจะซ่อนอาหารไว้ในกระเป๋า ลิงก็ได้กลิ่น
ข้อสุดท้าย ลิงเป็นสัตว์ป่า ไม่ควรไปแหย่เล่น หรือแกล้ง อาจได้รับอันตรายกลับมา
เมื่อมาถึงด้านบนแล้วต้องเสียค่าเข้า พิพิภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครคีรี อีกคนละ 20 บาท ส่วนเด็กเล็กเข้าชมฟรีครับ
เนื่องจากว่าภายในเขาวังค่อนข้างกว้าง จะไปตรงไหนก่อน – หลัง ต้องวางแผนกันก่อนไม่งั้นจะเดินเยอะ อ้อมไปอ้อมมา
ป้ายบอกทางไปสถานที่ต่างๆ
พระนครคีรี ประกอบด้วยยอดเขา 3 ยอด ในแต่ละยอดก็จะมีสถานที่สำคัญหลายอย่างเช่น พระที่นั่ง พระตำหนัก วัด กลุ่มอาคารต่างๆ ส่วนสถาปัตยกรรมของพระนครคีรีเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิคผสมสถาปัตยกรรมจีน คงเป็นเพราะช่วงเวลานั้น วัฒนธรรมตะวันตก กับ วัฒนธรรมจีน มีเข้ามามาก จากการเปิดประเทศ ที่มีชาติต่างๆ เข้ามาค้าขาย หรือเข้ามาแสวงหาอาณานิคม เราเลยได้รับวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้ามา
พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ในรูปด้านล่าง ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนครคีรี ภายในเป็นที่ประทับของพระราชอาคันตุกะ มีเครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปหล่อโลหะสำริดและทองเหลืองที่ใช้สำหรับตกแต่งห้องต่าง ๆ ในพระที่นั่ง และเครื่องกระเบื้องของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ภายในพระที่นั่งเป็นพื้นหินอ่อน ตกแต่งอย่างหรูหราตามสมัยนั้น
การเข้าชมด้านในพระที่นั่งต้องถอดรองเท้าและถือติดตัวไปด้วย ทางเข้ากับทางออกอยู่คนละทางกัน แต่ภายในห้ามถ่ายรูปนะครับ เลยไม่มีรูปมาให้ดู
สำหรับผู้หญิงที่ใส่กางเกงหรือกระโปรงสั้นจะต้องเช่าผ้านุ่ง สวมทับไปด้วยนะครับ เพื่อความเหมาะสมของสถานที่
ด้านในจะมีทางไปพระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรค์ ภายในมีห้องบรรทม ห้องทรงพระสำราญ ห้องสรง
ห้องสุดท้ายก่อนจะถึงทางออกมีอาวุธสมัยโบราณ มีด หอก ดาบ ตั้งโชว์อยู่เป็นสิบอัน
ใช้เวลาชมประมาณ 15 นาที ก็เสร็จ
เดินมาอีกนิดก็จะเจอกับ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ภายในพระที่นั่งมีพระพุทธรูป สามารถเข้าไปกราบไหว้ได้ครับ
สังเกตุที่ด้านขวาของพระที่นั่งเป็นโดม เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่เข้ามา ส่วนตัวพระที่นั่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย
หรือจะเดินเล่นรอบๆ พระที่นั่งฯ ก็ได้ สามารถมองเห็นวิวเมืองเพชรบุรีและพระราชวังบ้านปืน ได้ชัด
ลงมาจากพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ก็จะเจอกับ พระที่นั่งราชธรรมสภา
พระที่นั่งราชธรรมสภา เป็นพระที่นั่งที่มีหลังคาแบบจีน ส่วนซุ้มโค้งประตู หน้าต่างเป็นแบบตะวันตก ด้านในของพระที่นั่งไม่ได้เปิดให้เข้าชมครับ ปิดประตูไว้ทุกบาน
ทางเดินรอบพระที่นั่งฯ มีกระถางต้นไม้แบบตะวันตก วางเรียงตลอดทาง
หอคอยที่มีเสาประตูโค้งนี้ มีชื่อว่า หอชัชวาลเวียงชัย เป็นหอดูดาวของรัชกาลที่ 4
เราแวะพักชมวิวเมืองเพชรบุรี และยอดเขาอีก 2 ลูกของพระนครคีรี
ทางขวามือของรูปด้านล่างเป็น เขายอดกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุจอมเพชร เป็นพระธาตุสีขาว มีความสูง 40 เมตร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน
ส่วนทางซ้ายมือของรูปล่างเป็น ยอดเขาด้านทิศตะวันออก
พระธาตุจอมเพชร
ยอดเขาด้านทิศตะวันออก บริเวณไหล่เขาเป็นที่ตั้งของวัดมหาสมณาราม ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนฝีมือขรัวอินโข่งบนผนังทั้งสี่ด้าน เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา
ส่วนบนยอดเขาเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้วน้อย (หลังคาเหลืองเขียว) เป็นวัดประจำพระราชวังพระนครคีรี เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ ภายในวัดพระแก้วประกอบด้วยพระอุโบสถขนาดเล็ก ประดับด้วยหินอ่อน ด้านหลังเป็นพระพุทธเสลเจดีย์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นหอระฆังรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมขนาดเล็ก
ถัดลงมาที่ด้านซ้ายเป็นปรางค์แดง
ถ้ามีแรงและเวลาพอเราสามรถเดินถึงกันได้หมดเลยนะครับ ทั้ง 3 ยอดเขา แต่พอดีว่าฟ้าฝนไม่อำนวย เราเลยได้แต่มอง ยอดเขาด้านทิศตะวันออก และ เขายอดกลาง ไม่ได้เดินไปถึงตรงโน้น
ผมสังเกตุว่าพระราชวังเก่าจะนิยมปลูกต้นลั่นทม หรือ ลีลาวดีกันมาก อย่างเช่นเกาะสีชัง ปลูกกันทั้งเกาะเลย ต้นลั่นทมที่เขาวังเหมือนจะมีอายุหลายปี มีลำต้นสวยงาม บิดไปมา ไม่ตรงแข็งทื่อเหมือนที่คนนิยมปลูกตามบ้าน
เราพยายามเดินลัดเลาะไปตามหมู่อาคารต่างๆ บางอันก็ไม่รู้จักชื่อครับ
สองข้างทางของบันไดประดับด้วยต้นไม้ดัด คล้ายบอนไซ
อาคารนี้ก็น่าจะเป็น 1 ในอาคารเก่า แต่ผมไม่ทราบชื่อ
ระหว่างทางเจอลิง อยู่ตลอดทาง โดยปกติแล้วเค้าจะไม่มายุ่งกับเราครับ เว้นแต่เราจะมีของกิน
เดินมาเรื่อยๆ จนมาถึง หอพิมานเพชรมเหศวร ค่อนข้างทรุดโทรมตามกาลเวลา ภายในไม่เปิดให้เข้าชมครับ
หลังคาสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีน ส่วนเสาน่าจะเป็นแนวตะวันตกครับ
แถวนี้ไม่ค่อยมีคนเท่าไหร่ ถ้ามาเดินตอนกลางคืน คงน่ากลัว และวังเวง
อันนี้เป็นเหมือนศาลา ศาลาที่พระนครคีรี จะสร้างคล้ายๆ กันคือ หลังคาแบบจีน เสาและซุ้มโค้งแบบตะวันตก
ตรงนี้ก็มองเห็นวิวเมืองเพชรบุรีได้เช่นเดียวกัน
มาถึงที่สุดท้ายของเขาวังที่เราจะพาไปชม เป็น หมู่พระที่นั่งสันถาคารสถาน เป็นหมู่พระที่นั่งขนาดใหญ่ ตัวพระที่นั่ง 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูนแบบตะวันตก หลังคามุงกระเบื้องกาบกล้วย มีสันหลังคาทับแบบจีน ชั้นบนเป็นห้องพักทั้ง 2 ฝั่ง ชั้นล่างด้านหน้าเป็นห้องรับแขก
มีหน้ามุขยื่นออกไปเป็นที่ประทับทอดพระเนตรนาฏศิลป์ (ลานกระเบื้องด้านหน้า) ในสมัยรัชการที่ 4 ใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน ต่อมาให้เป็นที่รับแขกเมือง
ตรงประตูบานสีฟ้ามีเห็นมีไฟอยู่ด้านในเป็นสำนักงานของพระนครคีรีครับ นักท่องเที่ยวห้ามเข้า
สำหรับรีวิวเขาวัง พระนครคีรี ของเราก็จบเพียงเท่านี้ครับ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง หรือถ้าอยากเก็บให้หมด เขาทั้ง 3 ลูก อาจจะต้องใช้เวลาเช้า – ถึงเย็น การมาเที่ยวเขาวังครั้งนี้ รู้สึกว่าเขาวังมีอะไรให้น่าดูเยอะ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างตะวันตกและจีนได้อย่างกลมกลืน และสวยงาม เสียดายจริงๆ ว่าขับรถผ่านเพชรบุรีมาตั้งหลายครั้ง ไม่เคยคิดแวะดูเลย มัวแต่มองข้ามไป ไว้ครั้งหน้าผมจะหาโอกาสพาไปเที่ยวที่พระราชวังบ้านปืนอีกที่นึง เป็นวังที่อยู่ในเพชรบุรี ใกล้ๆ เขาวังนี่แหล่ะครับ
ขอขอบคุณที่ติดตามชมกันครับ 🙂
การเข้าชม |
เวลาทำการ : | ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. |
ช่วงเวลาเที่ยว : | ตลอดทั้งปี |
ค่าเข้าชม
|
ที่ตั้ง – ติดต่อ |
ที่อยู่ : |
ตำบล คลองกระแซง อำเภอเมืองเพชรบุรี เพชรบุรี 76000 |
การเดินทาง |
รถยนต์ : | จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (สายธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และอำเภอปากท่อ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปจังหวัดเพชรบุรี หรือจากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านนครปฐม ราชบุรี ไปยังเพชรบุรี เขาวัง อยู่ริม ถนนเพชรเกษมสายเก่า (ทางเข้าตัวเมือง) |
Post Views 47607