เที่ยวมะละกา มาเลเซีย ไปเองได้ไม่ง้อทัวร์
ต่อจากตอนที่แล้ว –> เที่ยวกัวลาลัมเปอร์ บูกิตบินตัง ไม่ง้อทัวร์ เรา check out จาก My hotel @ Bukit Bintang เสร็จก็เดินมาขึ้นรถ Monorail ที่สถานี Imbi แล้วเอากระเป๋าไปฝากไว้ที่ร้านรับฝากกระเป๋าที่ KL Sentral เดี๋ยววันนี้เราจะไป เที่ยวมะละกา กันครับ ถ้าใครนึกไม่ออกว่ามะละกาอยู่ตรงไหนของมาเลเซียลองจินตนาการถึง ช่องแคบมะละกา ที่เคยเรียนในวิชาสังคมสมัยเด็กๆ ก็จะพอนึกออกว่ามะละกาอยู่ตรงไหน
การไป มะละกา แล้วมีกระเป๋าใบใหญ่ไปด้วยจะไม่สะดวกครับ ควรฝากกระเป๋าไว้ที่ KL Sentral เสร็จค่อยไปที่ขนส่ง TBS (Terminal Bersepadu Selatan) ขึ้นรถไปมะละกา
ใครที่เคยอ่านรีวิวเก่าๆ ที่ไปขึ้นรถที่ Bukit Jaril หรือ Puduraya 2 ที่นี้แทบไม่มีรถไปมะละกาแล้วนะครับ ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2554 ต้องไปขึ้นรถที่ TBS ท่ารถหลักที่ไปมะละกาถูกย้ายไปที่ TBS หรืออีกทางหนึ่งก็คือนั่งรถจากสนามบิน LCCT ไปมะละกาเลย ราคาประมาณ 21.9 ริงกิต ราคานี้เหมือนจะแพงกว่าแต่ถ้าเรารวมค่ารถเข้าเมืองไปด้วย 8-9 ริงกิต ก็ไม่ได้แพงกว่าปกติเลย
ระหว่างรอ Monorail ไป KL Sentral
เราอ่านมาจากในเนตว่ามีร้านรับฝากกระเป๋าชื่อ Madam’ s Keeper อยู่ที่ชั้น 1 ตรงข้ามกับ McDonald’s ใน KL Sentral เดินหาอยู่นาน ก็หาไม่เจอ เจอผู้หญิงมาเลเซียคนนึง เป็นพนักงานใน KL Sentral กำลังรอร้านเปิด เลยถามเค้าว่า Madam’ s Keeper ไปทางไหน ปรากฎว่าเค้าพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เลยต้องใช้ภาษามือ เค้าก็ชี้ๆ ให้ไปทางโน้น พยายามจะสื่อสาร หลายครั้งที่หลงทางในมาเลเซีย ก็อาศัยถามทางกับคนท้องถิ่น คนมาเลเซียมีอัธยาศัยและน้ำใจดีนะครับ ดูหน้าตาเค้าอาจจะเข้มดูเหมือนดุ
และแล้วเราก็เจอร้าน Madam’ s Keeper แต่ร้านนี้ปิดกิจการไปแล้ว เลยไปถามกับ Information ใน KL Sentral ดีกว่า “Where can I left luggage over night?” พนักงานบอกให้ขึ้นไปที่ชั้น 2 แล้วเลี้ยวขวา
ร้านจะอยู่ตรงที่ผู้ชายรูปบนยืนอยู่นะครับ ชื่อร้าน MATANG ร้านเปิดทำการ 8.00 – 22.30 น.
มองไปในร้านมี Locker เก็บของด้วย กระเป๋าเราขนาดกลางๆ สูงประมาณ 24 นิ้ว เค้าคิดค่าฝาก 10 ริงกิต (ฝากค้างคืน) แพงเหมือนกัน ตอนฝากเค้าขอ passport ไปจดหมายเลขด้วย
ใบรับฝากกระเป๋า
จริงๆ แล้วใน KL Sentral มีตู้รับฝากแบบ Locker หยอดเหรียญด้วย อยู่ตรงทางเข้าห้องน้ำที่ติดกับร้าน Guardian แต่เป็นตู้ฝากชั่วคราว ค้างคืนไม่ได้ ค่าฝากก็แพงด้วยครับ อย่างกระเป๋าใบที่เราฝากกับร้าน MATANG ถ้าฝากตู้ชั่วคราวค่าฝาก 15 RM แนะ
ฝากกระเป๋าเสร็จ ตอนนี้สัมภาระเรามีเพียงเป้ที่ใส่เสื้อผ้าคนละใบ และกล้อง DSLR คนละตัว น้ำหนักเท่านี้แบกไปได้สบายๆ ครับ
จาก KL Sentral เราสามารถไป TBS ได้ด้วย รถไฟ KTM Komutor และ รถไฟฟ้าสาย KLIA Transit เราเลือกนั่ง KLIA Transit ครับสายนี้เป็นรถไฟฟ้าที่ไปสนามบิน รถใหม่ สะอาด ที่นั่งกว้าง ส่วน KTM Komutor เป็นรถไฟรุ่นดั้งเดิมของมาเลเซีย จะเก่าหน่อย (แต่ไม่เก่าเท่ารถไฟบ้านเรา) ค่าโดยสารคนละ 1 ริงกิต แต่คนแน่น รอนาน
ซื้อตั๋ว KLIA Transit ได้ที่เครื่องขายตั๋ว หรือกับพนักงานเลยก็ได้ครับ เลือกลงที่สถานี Bandar Tasik Selatan ค่าตั๋ว 4.2 ริงกิต / คน
ใครที่ต้องการนั่ง KLIA Transit จาก KL Sentral ไป LCCT ก็ขึ้นรถไฟได้ที่นี่เช่นกัน รถไฟ KLIA Transit จะวิ่งจาก KL Sentral ไปจอดที่สถานี Salak Tinggi จากนั้นก็ต้องนั่ง shuttle bus ไป LCCT อีกต่อ ราคาค่าโดยสาร 12.5 ริงกิต
ซื้อตั๋วเสร็จลงไปขึ้นลงที่ชั้นล่าง มีรถจอดอยู่พอดี กระโดดขึ้นรถไฟฟ้าได้เลยครับ ไม่ต้องกลัวผิดฝั่ง เพราะ KL Sentral เป็นสถานีแรกของ KLIA Transit ยังไงก็ถูกครับ
ภายใน KLIA Transit กว้างสะอาดดีครับ รถโล่ง คนน้อย รถไฟฟ้าสายนี้ออกแบบไว้สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่มาพร้อมกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ รถ KLIA Transit สังเกตที่ประตูจะมีปุ่มสีแดง ให้กดเมื่อต้องการให้ประตูเปิด ประตูจะไม่เปิดเองนะครับ เราต้องกด
รถวิ่งนิ่มๆ แต่เร็ว แอร์เย็น แปปเดียวก็ถึง คราวหน้าจะลองนั่ง KLIA Transit จากสนามบินเข้ามาในกัวลาลัมเปอร์บ้าง
จากสถานี Bandar Tasik Selatan เราจะมองเห็นอาคาร TBS อยู่สูงเด่นเป็นสง่า ไม่ต้องกลัวหาไม่เจอครับ เดินข้ามสะพานลอยเข้าอาคาร TBS ได้เลย
เมื่อเข้ามาด้านใน TBS รู้สึกว่ากว้างขวางและดูดีมากครับ ดูดีกว่า LCCT ซะอีก น้องๆ สนามบินเลย ใน TBS มีร้านขายของ, ร้านค้า, มินิมาร์ท, Food court ขาดเหลืออะไร ซื้อได้ที่นี่เลยครับ
ตั๋วรถไปมะละกาทุกบริษัท ทุกรอบ เราสามารถซื้อได้ที่ Counter สีส้มทุก Counter เลยครับ
รถไปมะละกาจะเริ่มวิ่งเที่ยวแรกตอน 7.00 น และเที่ยวสุดท้ายเวลา 23.00 น. มีรถออกทุกๆ ครึ่งชั่วโมง วันๆ นึงมีรถวิ่งเป็น 100 เที่ยวเลยครับ ถ้าไม่ใช่ช่วงเทศกาล ไม่ต้องกลัวว่ารถจะเต็ม ไม่่เหมือนเกนติ้งครับที่รถไม่ค่อยพอ
ขั้นตอนการซื้อตั๋วรถ
1. บอกกับพนักงานว่า “Melaka 2 tickets” (กรณีไป 2 คน)
2. พนักงานจะบอกเวลารถที่กำลังจะออก หรือเราจะดูที่จอคอมพิวเตอร์ที่อยู่หน้าเราก็ได้ ว่ามีรอบไหนบ้าง บ. อะไรให้บริการ
3. เมื่อเลือกเวลาได้แล้วจะมีที่นั่งให้เราเลือก ดูได้จากจอคอมพิวเตอร์ว่าตำแหน่งไหนว่างบ้าง ไม่ควรเลือกนั่งใกล้คนขับ เพราะคนขับชอบสูบบุหรี่บนรถ เราจะเหม็นบุหรี่ และหนวกหูเสียงรถวิ่งเข้ามาทางหน้าต่างคนขับ
4. พนักงานจะขอ Passport หรือขอชื่อใส่ในตั๋ว
5. จ่ายเงิน ค่ารถประมาณ 10-12 ริงกิต แล้วแต่บริษัท พนักงานจะบอกเกทขึ้นรถ ถ้าฟังไม่ทันดูจากตั๋วได้ครับ
ที่ผมขึ้นรถไปมะละกาเป็นเกทหมายเลข 5 อยู่ชั้นล่างจากชั้นที่ขายตั๋วไป 1 ชั้น เป็นรถรอบ 10.30 น ให้บริการโดย Mayang Sari
จากประสบการณ์ ซื้อตั๋วเสร็จก็จะถึงเวลาขึ้นรถพอดี ดังนั้นต้องรีบไปเข้าห้องน้ำ จะได้ไม่ไปปวดบนรถ รถใช้เวลาวิ่งประมาณ 2 ชั่วโมงนิดๆ ครับ แล้วไปรอขึ้นรถที่เกท รถออกตรงเวลาครับ
เมื่อถึงเวลารถออกจะมีพนักงานมายืนที่เกท แล้วเปิดประตู เค้าจะขอตั๋วเราไปสแกน Barcode เหมือนตอนขึ้นเครื่องบิน น่าจะเป็นการ recheck ด้วยว่าตั๋วใบนี้ขึ้นรถถูกหรือเปล่า
รูปด้านล่างเลนส์ขึ้นฝ้าเนื่องจากว่าใน TBS แอร์เย็น มาเจอข้างนอกที่อุณหภูมิร้อนในทันทีเลยเกิดฝ้า
ภายในรถนั่งสบายครับ มาตราฐานประมาณรถทัวร์ ป.1 บ้านเรา รถวิ่งออกจากเมืองไปเรื่อยๆ ไม่นานคนขับก็เปิดหน้าต่างและจุดบุหรี่มาสูบแบบสบายอารมณ์ กลิ่นก็ลอยมาทางด้านหลัง บังเอิญว่าเรานั่งหลังคนขับพอดี ก็รับไปเต็มๆ สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ชอบมาเลเซียก็เรื่องการสูบบุหรี่นี่แหล่ะครับ สูบได้เกือบทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ร้านอาหาร กว่าจะถึงมะละกาพี่คนขับสูบไป 3 ตัวครับ
ถนนที่วิ่งไปมะละกานั้นดีมากครับ ถนนกว้างไม่มีหลุมเลยซักนิด อารมณ์ประมาณมอเตอร์เวย์บ้านเรา แต่ทางหลวงบ้านเค้ามีด่านเก็บเงินเป็นระยะๆ ด้วย แต่เก็บไม่แพงครั้งละ 1-2 ริงกิตเท่านั้น
รถใช้เวลาวิ่งประมาณ 2 ชั่วโมงก็ถึงท่ารถมะละกา หรือ Melaka Sentral (มะละกา เซ็นทรัล) เราจะต้องลงรถที่นี่ แล้วต่อรถเมล์ท้องถิ่นเข้าตัวเมืองมะละกา
รถที่วิ่งในเมืองมะละกาจะมีรถใหม่ กับ รถเก่า (มากๆ) สาย 17 เราเห็นรถคันสีแดงนี้จอดอยู่ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นรถวิ่งเข้าเมืองมะละกาหรือเปล่า อ่านรีวิวมะละกาใน pantip บอกว่าให้นั่งสาย 17 รถเก่าๆ เข้าเมือง แต่รถเมล์ที่จอดไม่ติดหมายเลขเลย จะไปคันไหนดี เลยถามคนขับว่า Dutch square? คนขับตอบว่าใช่ พร้อมชี้ให้ขึ้นรถได้เลย
ที่หน้ารถติดสติ๊กเกอร์ว่า Panorama Melaka น่าจะเป็นผู้ให้บริการรถเมล์ในมะละกา
ภายในรถดูใหม่สะอาด แต่พื้นที่ค่อนข้างแคบ ไม่เหมาะที่จะเอากระเป๋าเดินทางใบใหญ่มาด้วย ค่ารถไป Dutch square เพียงคนละ 1 ริงกิตเท่านั้น จะรถรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าก็จ่าย 1 ริงกิตเท่ากัน ค่ารถจ่ายกับคนขับได้เลย แนะนำว่าควรเตรียมเงินไปให้พอดีครับ
เส้นทางเดินรถในมะละกาจะเป็นลักษณะวิ่งวนถนนเป็นวันเวย์บางช่วง เราจึงไม่สามารถขึ้นรถฝั่งตรงข้ามเวลาในขากลับ เส้นทางเดินรถจะวิ่งวนดังนี้ครับ
Melaka Sentral –> Mata Kuching –> Wisma Bendahara –> Clock tower (Dutch square) –> Dataran Palawan (ห้าง) –> Mahkota Parade (MP) –> Ujong Pasir –> Ocean (Hang Tual mall) –> Melaka Sentral
ประมาณไม่เกิน 20 นาที กับระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จาก Melaka Sentral เราก็มาถึงใจกลางมะละกา ที่ Dutch square คนขับตะโกนดังลั่น Dutch square… Dutch square สงสัยกลัวเราลงไม่ถูก
ก่อนจะลงรถไปเที่ยวมะละกาผมขอเล่าประวัติมะละกาพอสังเขป การที่เราได้รู้ความเป็นมาของเมืองนั้น ก่อนที่จะไปเที่ยว จะทำให้การเที่ยวสนุกขึ้นครับ เวลาเจอสถานที่สำคัญจะได้จินตนาการถูกว่ามีประวัติศาสตร์ ความเป็นมายังไง
ประวัติความเป็นมาของเมืองมะละกา
มะละกา เป็นเมืองที่มีความสำคัญ มีประวัติความเป็นมามากที่สุดเมืองหนึ่งในมาเลเซีย เป็นเมืองท่าเรือที่มีที่ตั้งเหมาะแก่การค้าขาย จึงมีชาติตะวันตกต้องการที่จะยึดมะละกาเป็นเมืองขึ้น
ในปี ค.ศ. 1409 จีนได้เริ่มเข้ามาสร้างความสัมพันธ์กับมะละกา และได้ทำการค้าขายกับมะละกาทางเรือสำเภา ของที่ขายในสมัยนั้นก็มี ข้าว, เครื่องเทศ, ไม้หอม, ชามกระเบื้อง, เพชร พลอย เครื่องประดับ
อินเดียเป็นชาติถัดมาที่เข้ามาในมะละกา และได้นำศาสนาอิสลามมาเผยแพร่ และศาสนาอิสลามได้รับการเผยแพร่ไปยังเมืองอื่นๆ จนกระทั่งเป็นศาสนาประจำชาติของมาเลเซีย
ต่อมาโปรตุเกสได้เข้ามาแสวงหาอาณานิคมในภูมิภาคเอเชีย เพื่อแสวงหาผลประโยชน์และทำการค้า มะละกากลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญของโปรตุเกส ในตอนแรกนั้นมะละกาไม่ยอมรับข้อเสนอของโปรตุเกสที่จะขอจัดตั้งสถานีการค้าในมะละกา
จึงเกิดการต่อสู้ระหว่างมะละกาและโปรตุเกส รบกันอยู่เกือบเดือนสุดท้ายมะละกาขอยอมแพ้ โปรตุเกสจึงได้มะละกามาครองสมใจอยาก โปรตุเกสได้สร้างเมืองใหม่ สร้างโบสถ์เซ็นต์ปอล สถานที่ราชการ ขึ้นมาแทนที่พระราชวังของสุลต่านมะละกา ที่ได้เผาทำลายไป
และสร้างป้อมปราการ A’ Famosa (The Famous) เพื่อป้องกันการรุกรานจากชาติอื่น
โปรตุเกสได้ครอบครองมะละกาอยู่ 130 ปี ในปี ค.ศ. 1640 ฮอลันดา (ปัจจุบันคือประเทศฮอลแลนด์) ก็ได้เข้ามาตีมะละกา เพื่อต้องการที่จะยึดมะละกาจากโปรตุเกส สุดท้ายแล้วฮอลันดา ก็เป็นฝ่ายได้ชัยชนะ
ฮอลันดาได้สร้างสถานที่สำคัญไว้ในมะละกาได้แก่โบสถ์สีแดง (Christ church) ที่ Dutch square ปัจจุบันโบสถ์นี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองมะละกา
ชาติสุดท้ายที่ได้เข้ามาครอบครองมะละกาคืออังกฤษ เนื่องจากว่าฮอลันดาแพ้สงครามต่อฝรั่งเศส จึงยกมะละกาให้กับอังกฤษ เพื่อกันไม่ให้ฝรั่งเศสมามาครอบครองมะละกา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษได้คืนเอกราชให้กับมาเลเซีย วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1957 วันนี้วันที่ประวัติศาสตร์ชาติมาเลเซียต้องจารึกไว้ มาเลเซียไม่ต้องขึ้นกับประเทศใดๆ แล้ว การประกาศเอกราชมีขึ้นที่เมืองมะละกา บริเวณหน้าอาคาร Proclaimation of Independence Memorial ในปัจจุบัน ตรงข้ามกับประตูซานติเอโก
เห็นโบสถ์คริสต์แบบนี้ (Christ church Melaka) มั่นใจได้ว่าลงถูกที่แล้ว
Dutch square หรือ จตุรัส ดัทช์ เป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ตั้งแต่สมัยมะละกาถูกปกครองด้วยฮอลันดา (ฮอลแลนด์) สิ่งก่อสร้างในย่านนี้จะทาด้วยสีแดง สถานที่สำคัญในย่านนี้ได้แก่
โบสถ์คริสต์มะละกา (Christ church Melaka) สร้างด้วยอิฐที่นำเข้ามาจากฮอลันดา แล้วฉาบด้วยสีแดง โบส์แห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1741 และเสร็จในปี 1753 รวมใช้เวลาสร้าง 12 ปี
น้ำพุหน้าโบสถ์ สร้างในปี ค.ศ. 1904 เป็นน้ำพุที่ทำจากหินอ่อน ชาวมะละกาสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 65 ปี ของพระราชินีวิคตอเรีย ประเทศอังกฤษ
หอนาฬิกาสีแดง สร้างในปี ค.ศ. 1886 โดยคหบดีชาวจีน ชื่อ ตันกิมเส็ง
รูปบน : ซ้าย หอนาฬิกา, ขวา น้ำพุหินอ่อนหน้าโบสถ์
ในการเที่ยวชมรอบเมืองมะกานั้น นอกจากจะเดินชมแล้ว ยังมีสามล้อถีบให้บริการอีกด้วย ราคาค่าบริการจะอยู่ที่ 10-15 ริงกิต / รอบ / คัน นั่งได้ 2 คน หรือคิดเป็นชั่วโมง ชั่วโมงละ 40 ริงกิต โดยสามล้อที่มะละกาจะมีเอกลักษณ์ประจำตัวที่ไม่มีใครเหมือน เช่นการตกแต่งรถสามล้อด้วยดอกไม้ สีสวยสด ประดับไฟ (ไว้เปิดเวลากลางคืน) และแทบจะทุกคันจะต้องมีเครื่องเสียงไว้เปิดแข่งกัน
ใครที่อยากชมเมืองมะละกาจากที่สูงแนะนำให้ขึ้น Menara Taming Sari หรือหอคอยเคลื่อนที่ มะละกา เจ้าหอคอยนี้สามารถวิ่งลงมารับคนได้ หลังจากคนขึ้นเต็มแล้ว หอคอยก็จะหมุนรอบ 360 องศา ทำให้เรามองเห็นมะละกาในมุมต่างๆ ได้หมด
ระดับความสูงที่หอคอยขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่ 80 เมตรครับ เรื่องความปลอดภัยของหอคอยนี้ ไม่ค้องเป็นห่วงครับ หอคอยนี้สร้างด้วยเทคโนโลยีจากสวิสเซอร์แลนด์ ทนแผ่นดินไหวได้ถึง 10 ริกเตอร์ งบประมาณในการสร้างหอคอย 24 ล้าน ริงกิต สามารถขึ้นได้มากสุด 66 คน
ค่าขึ้นหอคอย Menara Taming Sari มะละกา
– ผู้ใหญ่ 20 ริงกิต
– เด็ก 10 ริงกิต (ต่ำกว่า 12 ปี)
ระยะเวลาในการขึ้นชม 7 นาที
เปิดให้บริการทุกวัน 10.00 – 22.00 น
เหลือบดูนาฬิกาจะบ่าย 2 แล้ว หาข้าวกินก่อนดีกว่า จะได้มีแรงเดิน เราเดินมาทานข้าวใน Food court ห้าง Dataran Palawan ห้างนี้อยู่ใกล้กับ Dutch square เดินไปไม่ไกล เห็นร้านนึงชื่อร้าน THAI TOMYAM เลยไปหาอาหารไทยดีกว่า
ในร้านมีรายการอาหารให้เลือกหลายอย่างตั้งแต่อาหารไทย จนถึงอาหารฝรั่ง สเต๊กปลา เนื้อ การสั่งอาหารก็ง่ายนิดเดียว ชี้ตามรูป แล้วก็ชี้นิ้วเอาว่าเอากี่ชุด สั่งอาหารเสร็จก็ต้องจ่ายเงินเลย แล้วก็รอแป๊ปนึงค่อยมารับอาหาร ร้านนี้ลูกค้าเยอะแต่ก็รอไม่นานครับ
ผมสั่งต้มยำไก่ + ข้าว และ Fish & Chips
ผมสั่งต้มยำไก่ + ข้าว ราคา 6.9 ริงกิต
Fish & Chips ราคา 9.9 ริงกิต
ราคาปกติทั่วไปครับ ไม่แพง รสชาติพอกินได้
ทานข้าวเสร็จก็เดินเที่ยวกันต่อ สถานที่ตรงนี้ไม่รู้เรียกว่าอะไร คล้ายกับสวนสาธารณะ มีเครื่องบินจอดโชว์ มีขบวนรถไฟ
เห็นเด็กคนนี้กำลังปั่นอะไรซักอย่าง คล้ายกับจักรยานแต่นอนขี่ ดูแล้วสบายจริงๆ
เข้ามาที่ใจกลางมะละกาต่อ แถวนี้มีพิพิธภัณฑ์หลายที่มาก ค่าเข้าชมก็ไม่แพงด้วย ในรูปล่างเป็น The Malay and Islamic World Museum น่าจะแปลเป็นไทยว่า พิพิธภัณฑ์โลกศาสนาอิสลามและมาเลเซีย ภายในจะจัดแสดงการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาอิสลามในมาเลเซีย ประเทศมาเลเซียมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และมีคนนับถือศาสนาอิสลามประมาณ 55% ของประชากรทั้งหมด
เราเดินตามทางเดินไปเรื่อยๆ เห็นป้ายชี้ Bukit St. Paul คำว่า Bukit ในภาษามาเลเซียแปลว่าเนินเขานะครับ เดี๋ยวเราขึ้นไปชมโบสถ์ เซนปอล ที่เนินเขาด้านบนกันนะครับ
ที่เนินเขาโบสถ์ เซนปอล มองได้ไกลถึงทะเล ช่องแคบมะละกา
St. Paul Church หรือ โบสถ์ เซนปอล เป็นโบสถ์เก่าสร้างอยู่บนเนินเขาใกล้กับ Dutch square สร้างขึ้นโดยคณะบาทหลวงจากโปรตุเกส ในปี ค.ศ. 1521 ตอนแรกนั้นเป็นเพียงโบสถ์เล็กๆ และมีการขยายใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆ ต่อมาฮอลันดาเข้ามาปกครองมะละกา จึงเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็นโบสถ์ เซนปอล และใช้งานโบสถ์แห่งนี้เป็นเวลา 112 ปี จนกระทั่งโบสถ์คริสต์สีแดง ตรง Dutch square สร้างเสร็จ จึงไปใช้โบสถ์ของตัวเอง
ที่หน้าโบส์มีรูปปั้นนักบวชชาวคริสต์อยู่ ท่านมีชื่อว่า Saint Francis Xanvier ท่านเป็นนักบวชชาวสเปนที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ในย่านเอเชียตะวันออก หลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตที่ประเทศจีน โบสถ์แห่งนี้เคยเป็นที่ฝังศพชั่วคราวนาน 6 เดือน ก่อนที่จะย้ายไปฝังที่อินเดีย
สังเกตที่มือขวาของท่านจะหายไปเป็นเพราะว่ามีต้นไม้ใหญ่ล้มทับรูปปั้น ทำให้ส่วนมือหักไป แต่มือที่หักนี้สอดคล้องกับเรื่องจริงที่พระสันตะปาปา รับสั่งให้ตัดมือของศพ Saint Francis Xanvier จากอินเดีย ไปเก็บไว้ยังสำนักวาติกัน ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี
รูปปั้น Saint Francis Xanvier ที่ไม่มีมือขวา
ภายในโบสถ์เป็นหลังคาเปิดโล่งคงจะพังไปตามกาลเวลา
แผ่นหินจารึกความเป็นมาในอดีต พิงอยู่รอบฝาผนังโบสถ์
ในกรงนี้เหมือนจะเป็นที่หย่อนเหรียญ หรือ เงินบริจาค เห็นมีเงินอยู่ด้านล่างกรง
จากเนินเขาโบสถ์ เซนปอล เรามองเห็นเสากระโดงเรือสำเภาของ Maritime museum หรือพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในเรือ อยู่ไม่ไกลเท่าไหร่ เลยเดินไปเข้าชม Maritime museum ต่อ
ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ผู้ใหญ่คนละ 3 ริงกิต เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี คนละ 1 ริงกิต
หมายเหตุ. ข้อมูล ณ วันที่ 18/08/12 ค่าเข้าปรับขึ้นราคาจาก 3 ริงกิตเป็น 6 ริงกิต
ตอนที่ซื้อบัตรเข้าชมเค้าจะให้ถุงพลาสติกมาคนละ 1 ใบ เอาไว้ใส่รองเท้า พกติดตัวไประหว่างชมในพิพิธภัณฑ์
บัตรเข้าชม Maritime museum
ตอนที่ไปเค้ากำลังทาสีเรือใหม่อยู่
ตัวพิพิธภัณฑ์อยู่ในเรือครับ จะต้องเดินขึ้นบันไดเข้าไปในเรือ
Maritime museum : พิพิธภัณฑ์เรือสำเภา เป็นเรือที่จำลองมาจากเรือสำเภาฟลอเดอรามาร์ (Flor de lama) เป็นเรือของโปรตุเกส ในสมัยที่มะละกาอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส เรือลำนี้ได้ขนสมบัติจากวังสุลต่านมะละกาไปเต็มพิกัด หลังจากที่เรือออกจากมะละกา ได้แล่นออกไปทางเกาะสุมาตราตอนเหนือและได้ล่มลงที่นั่น
ในเรือจะจำลองบรรยากาศการใช้ชีวิตบนเรือ สมบัติมีค่าจากวังสุลต่าน
ข้อห้ามในการเข้าชม ห้ามสูบบุหรี่, ห้ามทานอาหารข้างใน, ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าไป, ห้ามใส่รองเท้า
รองเท้าให้ใส่ถุงพลาสติกแล้วถือติดตัวไปกับเราเลยนะครับ
เข้ามาในเรือก็เจอกับรูปปั้นพ่อค้า และสมบัติหลายอย่าง หม้อ ไห ผ้าไหม เครื่องเทศ เป็นของที่มีค่ามากในสมัยนั้น
มีประวัติความเป็นมา เรื่องราวในอดีต แต่อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง มีแต่ภาษามาเลเซีย
เดาจากรูปปั้นชายคนนี้น่าจะเป็นกัปตันเรือ หรือไม่ก็โจรสลัด
เรือสำเภาสมัยโบราณ
เงินมาเลเซียในอดีต
หีบทรัพย์สมบัติที่ขนมาจากวังสุลต่านมะละกา
สมอเรือสำเภา
พิพิธภัณฑ์บนเรือไม่ใหญ่มากครับ ใช้เวลาชมไม่เกิน 20 นาที แต่ยังมีพิพิธภัณฑ์ในอาคารให้ชมได้อีก คุ้มจริงๆ 3 ริงกิต
Maritime museum ที่อยู่ในอาคารจะต้องลงจากเรือแล้วเดินไปอีกนิดนึง
ในอาคารนี้ก็ห้ามใส่รองเท้าเข้าไปต้องถือติดตัวหรือไม่ก็ถอดไว้ในชั้นหน้าทางเข้า
วิถีชีวิตชาวมะละกา
เรือพายมะละกา ลวดลายคล้ายกับเรือที่ภาคใต้บ้านเราเลย
การแต่งตัวในสมัยก่อน สังเกตุว่าผู้ชายจะชอบไว้ผมยาว และใส่เสื้อแขนยาว
แผนที่เดินเรือสมัยก่อน
ประเทศมาเลเซียมีการสนับสนุนการจิจัยทางด้านอวกาศ ถึงกับมีการตั้งองค์กรเกี่ยวกับอวกาศขึ้นมาชื่อว่า Malaysian Space Agency และในวันที่ 10 ตุ.ค. 50 ได้มีนักบินอวกาศชาวมาเลเซียคนแรก เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS
ชมพิพิธภัณฑ์เสร็จ เห็นทีจะต้องเข้าโรงแรมไป Check in ที่พัก ไปล้างหน้า ล้างตา เอาของไปเก็บแล้วออกมาใหม่อีกรอบ
ที่พักของเราในมะละกา เราพักที่ โรงแรม Fenix Inn เป็นโรงแรมที่ทำเลดีครับ ราคาไม่แพง อยู่ใกล้ห้างใหญ่ Dataran Pahlawan และ Mahkota parade
การเดินทางมาโรงแรม Fenix Inn ก็ง่ายมาก เดินไปทางห้าง Dataran Pahlawan ห้างสีเทาในรูปด้านบนนะครับ เดินตรงมาจะเจอกับสี่แยก ให้เดินตรงไป โรงแรม Fenix Inn จะอยู่ทางขวามือ โรงแรมทาสีน้ำตาล โดดเด่นกว่าตึกแถวห้องอื่น
ตรงข้ามกับโรงแรมมีร้านขายของชำน้องๆ 7-eleven ของกิน ของใช้ เครื่องดื่มมีครับ ส่วน 7-eleven ที่ใกล้โรงแรมที่สุดถ้าออกจากโรงแรมให้เลี้ยวขวา ตรงไป แล้วเลี้ยวขวาอีกทีก็เจอ ร้านอาหารใกล้กับโรงแรมก็พอมีครับ หาไม่ยาก แต่ผมว่าไปกินที่ Food court ใน Dataran Pahlawan ดีกว่า มีให้เลือกหลายอย่าง ราคาเชื่อใจได้
หน้าโรงแรม Fenix Inn
เราจองโรงแรม Fenix Inn กับ Agoda ไว้แล้ว เมื่อไปถึงโรงแรมก็ยื่น Hotel Voucher ให้พนักงาน check in โรงแรมจะมีค่ามัดจำ Key card ด้วย จำนวน 20 ริงกิต จะได้คืนตอน check out พนักงานที่ Front พูดคุย บริการดีครับ
ราคาที่พัก ห้อง Double Deluxe 1,300 บาท
Link. รีวิวโรงแรม Fenix Inn, เช็คราคา จองโรงแรม Fenix Inn
ลอบบี้ Fenix Inn
โรงแรม Fenix Inn เป็นโรงแรมเล็กๆ ขนาด 3 ชั้น ไม่มีลิฟท์ ในโรงแรมมีตู้กดน้ำดื่ม น้ำร้อน – น้ำเย็น แต่ไม่มีน้ำดื่มขวดให้
ในห้องมีชา – กาแฟ กาต้มน้ำร้อน + ทีวี + เครื่องทำน้ำอุ่น มีผ้าเช็ดให้ 2 ผืน ในเวบ Agoda บอกว่าโรงแรมนี้ 3 ดาว แต่ผมว่าน่าจะ 2 ดาว จัดเป็น Budget hotel ที่ทำเลดี สะอาด ปลอดภัย
ห้องบางห้องจะไม่มีหน้าต่างครับ เช่นห้องที่เราพัก แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรมาก ในห้องดูเก่านิดนึง แต่ความสะอาดก็โอเคอยู่
ซ้าย : แผง Key card / สวิตช์ไฟ, ขวา : รูปลั๊กไฟมาเลเซีย
ที่โรงแรม Fenix Inn รูปลั๊กไฟจะเป็นมาตราฐานของมาเลเซีย และ สิงคโปร์ ถ้าจะเสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าจากบ้านเราต้องมี Universal adaptor แปลงอีกทีนะครับ
เราพักห้องนี้ครับห้องไม่มีหน้าต่าง แต่ก็ดีที่ไม่ได้อยู่ติดใคร
ภายในห้อง พออยู่ได้ ไม่แคบมาก
ในห้องน้ำ ดูธรรมดามาก มีเครื่องทำน้ำอุ่น แต่ก็สะอาดครับ
ล้างหน้า ล้างตาให้หายเหนื่อย แล้วก็ออกไปเที่ยวในมะละกากันต่อครับ ไฮไลท์ของตอนกลางคืนอยู่ที่ถนนคนเดินยองเกอร์ Jonker street
เราเดินย้อนไปทาง Dutch square อีกครั้ง ในรูปด้านล่างเป็น Melaka Stamp museum หรือพิพิธภัณฑ์แสตมป์ คาดว่าคงปิดทำการแล้วครับ ตอนนี้เย็นแล้ว ช่วงตอนเย็นเหมาะกับการเดินเล่นรอบมะละกามาก อากาศไม่ร้อน
ในรูปล่างจะเป็นซากป้อมปราการซานติเอโก มีรั้วกั้น และ ทำทางเดินให้เดิน
Proclaimation of Independence Memorial เป็นอาคารสีเหลือง – น้ำตาล มีโดมสีเหลืองอยู่ด้านบน อาคารแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย เป็นสถานที่ประกาศเอกราชไม่ขึ้นตรงกับประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.1957 ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกันใคร
ภายในมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคม การเป็นเมืองท่าของช่องแคบมะละกา มีภาพถ่าย รูปปั้นจำลองของผู้คนในสมัยนั้น
ที่อยู่ตรงข้ามกับ Proclaimation of Independence Memorial เป็น ประตูซานติเอโก ประตูแห่งนี้สร้างโดยโปรตุเกส โดยสร้างไว้รอบเนินเขามะละกา ต่อมากองทัพฮอลันดาบุกเข้ามะละกา ได้มีการบูรณะประตูซานติเอโกบางส่วน เนื่องจากประตูซานติเอโกเป็นประตูเก่าที่มีอายุกว่า 150 ปี ในขณะนั้น และยังคงใช้เป็นประตูเมือง
จนกระทั่งอังกฤษได้เข้ามาครอบครองมะละกาจึงสั่งให้ทำลายป้อมปราการและกำแพงรอบๆ นั้นทิ้ง ในขณะที่การทำลายใกล้จะเสร็จสิ้น เซอร์ โทมัส แสตมฟอร์ด ราฟเฟิล เดินทางมาจากสิงคโปร์มาเห็นเข้าพอดี จึงยับยั้งการทำลายเพราะเห็นว่ามีคุณค่าทางประวิติศาสตร์ จึงเป็นที่มาว่าประตูซานติเอโก เป็นประตูที่ไร้กำแพง
บ้านไม้ที่อยู่เลยประตูซานติเอโก เป็นพิพิธภัณฑ์วันธรรมมะละกา (Melaka Cultural Museum) ภายในมีข้างของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกายในสมัยก่อน ที่แห่งนี้เคยเป็นวังของสุลต่านมะห์มุด
The Stadthuys หรือแปลเป็นไทยว่าที่ทำการเทศบาล อาคารนี้สร้างขึ้นโดยฮอลันดา ในปี ค.ศ. 1650 หลังจากที่ฮอลันดาเข้ามายึดมะละกาจากโปรตุเกส ตำแหน่งที่อาคารหลังนี้อยู่ก็อยู่ใกล้ๆ กับโบสถ์ St Paul บนเนินเขาลูกเดียวกัน
ปัจจุบันอาคารหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยาและวรรณคดี (History, Ethnography And Literature Meseum) ในพิพิธภัณฑ์จะเล่าถึงวิถีชีวิตของชาวมะละกา ประเพณีต่างๆ เช่นการแต่งงาน
ถ้าเดินไปทางนี้ก็จะลงไปทาง Dutch square, หอนาฬิกาได้
ถนนหนทางและบ้านเมืองในมะละกายังคงรูปแบบในสมัยก่อน และอนุรักษ์ไว้อย่างดีสมกับที่ได้เป็นมรดกโลก
ตึกแถวบ้านเรือน ทาสีแดงอิฐ – น้ำตาลไปตลอดทั้งถนน
ทางขวามือ (รูปบน) ก็เป็นพิพิธภัณฑ์อีกเช่นกันครับ Malaysia Youth Museum เมืองมะละกาพิพิธภัณฑ์เยอะมากๆ ครับ เดี๋ยวเราจะเดินตามทางนี้ไปเรื่อยๆ ไปที่โบสถ์เซนต์ ฟรานซิส เซเวียร์ (Church of St. Francis Xanvier) เดินไปไม่ไกล จาก Dutch square ก็ประมาณ 200 กว่าเมตร
โบสถ์เซนต์ ฟรานซิส เซเวียร์ (Church of St. Francis Xanvier) เป็นโบสถ์เก่าแก่ ตัวอาคารเป็นสีเหลือง รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบกอทิก (Gothic style) สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1849 ก่อสร้างโดยบาทหลวงฟาร์ฟ (Farve) แต่เหตุที่ชื่อโบสถ์เซนต์ ฟรานซิส เซเวียร์ เพราะบาทหลวงฟาร์ฟต้องการสร้างอุทิศให้ เซนต์ ฟรานซิส เซเวียร์
จากที่ผมยืนดูโบสถ์เซนต์ ฟรานซิส เซเวียร์ เห็นได้ว่าตัวโบสถ์นั้นเอียงไปทางขวาครับ แต่โครงสร้างภายนอกยังดูแข็งแรงดี อาจจะเป็นเพราะโบสถ์นี้สร้างมาแล้วกว่า 160 ปี โครงสร้างอาจมีการชำรุด
ป้าย “WELCOME TO MELAKA World Heritage City” ยินดีต้อนรับสู่เมืองมะละกา มรดกโลก
ถ้าเราเดินไปทางขวามือที่ชายเสื้อส้มยืนอยู่ จะเป็นคลองที่ชื่อว่า Sungai Melaka มีเรือให้บริการชมเมืองมะละกาด้วยครับ (Melaka river cruise) ราคาคนละ 10 ริงกิต ตอนเย็นๆ บรรยากาศดีๆ เหมาะกับการนั่งชมเรือมาก
เราสามารถเดินเล่นเลียบคลองไปออกตรง Jonker walk ได้เลยครับ 2 ข้างทางริมคลองก็จะมีร้านอาหารแนวๆ อยู่เรื่อยๆ
ผมยืนรอจังหวะที่เรือแล่นผ่านเพื่อถ่ายรูป ทันทีที่คนบนเรือเห็นเรายืนถ่ายรูป โบกไม้ โบกมือยิ้มให้กันใหญ่เลยครับ เสียดายว่าตั้ง ISO ในกล้องน้อยไปหน่อย พอมาเจอเรือวิ่งก็เลยเบลอ
เราเดินเลียบคลองมาเรื่อยๆ จนถึงทางออกแถววงเวียน Dutch square
อาคารหลังนี้เป็นสถานีตำรวจท่องเที่ยว ทาสีน้ำตาลให้ดูกลมกลืนกับโบสถ์คริสต์
ซ้าย : หอนาฬิกา (Clock tower Melaka) ขวา : กังหัน สัญลักษณ์ของประเทศฮอลแลนด์
แดดล่มลมตกแล้ว ได้เวลามาเดินถนนคนเดินยองเกอร์ (Jonker walk)
ถนนคนเดินยองเกอร์ (Jonker walk) เป็นถนนคนเดินในเมืองมะละกา มีเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์ มีของกิน ของฝากขายหลายอย่าง 2 ข้างทางของถนนยองเกอร์เป็นบ้านเรือนเก่า รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบชิโน – โปรตุเกส คล้ายกับที่ภูเก็ต ประเทศไทยครับ
การเดินทางมาถนนคนเดินยองเกอร์ ให้เริ่มต้นที่ Dutch square หันหลังให้โบสถ์คริสต์ เดินข้ามถนนผ่านวงเวียนตรงไปอย่างเดียวเลยครับ หรือจะเดินตามฝูงชนไปก็ได้ รับรองไม่มีหลง
ร้านขายของที่ระลึก Magnet ติดตู้เย็นรูปโบสถ์คริสต์มะละกา, หอนาฬิกา, เรือสำเภา ฯลฯ ราคา 3 อัน 10 ริงกิต ตกอันละ 33 บาท
ภาพมะละกาในอดีต
รองเท้าแตะไม้สไตล์จีน
ร้านขายของที่ระลึก Oneyou souvenir
อาคารบ้านเรือนแบบชิโน – โปรตุเกส
ร้านน้ำแข็งใส QQ Ice
ร้านอาหาร GI KIAT HUAY หรือ jonker88 ขายอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวชามละ 4-6 ริงกิต และน้ำแข็งใส น้ำแข็งใสเจ้านี้เค้าขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยครับ วันนี้ขายหมดแล้ว
DATUK WIRA DR. GAN BOON LEONG “The father of bodybuilders in Malaysia” รูปปั้นนักเพาะกายชาวมาเลเซีย
ร้านสีเหลือง – เขียว เป็นร้านอาหาร นั่งดื่ม ร้านนี้มีฝรั่งมาจิบเบียร์เยอะ
เดินไป เดินมา หิว เลยซื้อขนมจีบมากิน อร่อยดีครับ ราคาไม่แพงด้วย 6 ลูก 3 ริงกิต แต่น้ำจิ้มเค้าแปลกๆ ไม่เหมือนบ้านเรา
SELAMAT DATANG KE JONKER WALK “ยินดีต้อนรับสู่ถนนคนเดิน ยองเกอร์” เราเดินมาปลายสุดของถนนนองเกอร์แล้วครับจนเจอข้อความยินดีต้อนรับของอีกฝั่งถนน
ตรงนี้มีเวทีร้องเพลง แบบคาราโอเกะ เพลงที่ร้องก็จะเป็นแนวจีนๆ แต่ละคนที่ขึ้นไปร้องจะมีเวลาจำกัด ประมาณ 3-4 นาที เมื่อครบกำหนดเสียงเพลงจะหายไปเลย ไม่รอให้เพลงจบ ใครที่ร้องกำลังเพลินต้องอารมณ์ค้างเมื่อเวลาหมด
Friend world cafe ร้านเบียร์ (Tiger) ดูจากบรรยากาศน่าจะเปิดถึงดึก
มาเดินที่ถนนคนเดินยองเกอร์ ให้บรรยากาศเหมือนเดินที่บ้านเราเลยครับ ของที่ขาย อาหารการกิน
ตอนนี้วนกลับแล้วครับ มุ่งหน้าหา Dutch square
เดินผ่านตรงนี้มีเสียงดังมาก เสียงเหมือนทุบตึก เข้าไปใกล้ๆ เป็นขนมชนิดหนึ่งครับ ท่าทางจะแข็งมาก GULA KETUK Candy sweets ลอง Search ใน google ดู ขนมชนิดนี้ที่ถนนคนเดินยองเกอร์ ถือเป็นของขึ้นชื่อเลยครับ ใครมีโอกาสลองซื้อทานดูนะครับ
ร้านขายเสื้อผ้า Jonker Gallery
คุณลุงสีไวโอลินเปิดหมวก
ร้านข้าวมันไก่ลูกบอล FAMOSA Chicken Rice Ball ข้าวมันไก่เจ้านี้ชื่อดังมากครับ ข้าวจะเป็นลูกบอลกลมๆ จานนึงมีข้าว 4-5 ลูก ไม่ได้ใส่ถ้วยแล้วคว่ำเหมือนบ้านเรา ถ้ามาตอนกลางวัน คนจะมุงหน้าร้านเยอะมาก ต้องต่อคิวด้วยถึงจะได้กิน
เดินมาเรื่อยๆ จนมาถึงโบสถ์คริสต์ที่ Dutch square อีกรอบ แสงกำลังสวย เลยถ่ายมาอีกรูป
มื้อเย็นเราฝากท้องที่ Food court ในห้าง Dataran Pahlawan ที่เดิมกับมื้อกลางวัน จานนี้เป็นข้าวไก่ บา บี คิว ราคา 11.9 ริงกิต
ทานข้าวมื้อเย็นเสร็จ แวะร้านขายของชำตรงข้ามโรงแรมซื้อกาแฟกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไว้กินเป็นอาหารเช้า จริงๆ ผมเตรียมมาม่าคัพมาจากไทยด้วย แต่ดันติดอยู่ในกระเป๋าใบใหญ่ที่ฝากไว้ที่ KL Sentral
ตอนเข้าโรงแรมเห็นป้ายว่ามีรถรับส่งไปยัง Melaka Sentral เลยถามคนที่หน้า Front ว่าราคาเท่าไหร่ เค้าบอกว่าคนละ 15 ริงกิต 2 คนก็ 30 ริงกิตแนะ แพงจัง เลยไปถามลุงที่หน้าทางเข้าโรงแรม เป็นพนักงานของ Fenix Inn เหมือนกันครับ คราวนี้ถามใหม่ว่าป้ายรถเมล์ไป Melaka Sentral อยู่ที่ไหน เค้าก็บอกว่าอยู่หน้า McDonald’s ออกจากโรงแรมก็เดินไปทางทิศ 10 นาฬิกา
เค้าก็บอกว่าไม่ไปรถของโรงแรมละ สบายกว่าเยอะเลย ช่วงเช้าถ้าไปรถเมล์จะรอนานนะ เลยบอกเค้าว่าพนักงานหน้า Front บอกกับเราว่าคนละ 15 ริงกิต มันแพงไป ลุงบอกว่าไม่ใช่มั้งน่าจะ 2 คน 15 ริงกิต
พนักงานโรงแรมนี้ให้ข้อมูลไม่ตรงกันเลยแฮะ แต่ก็อัธยาศัยดีนะครับ ยิ้มแย้มบอกป้ายรถเมล์ไป Melaka Sentral ให้เรา
พอขึ้นห้องปุ๊บ อาบน้ำ รีบนอนแต่หัวค่ำ พรุ่งนี้จะตื่นเช้า กลับกัวลาลัมเปอร์ และนั่งเครื่องกลับตอนบ่าย
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และ Old Town white coffee กาแฟชื่อดังของมาเลเซีย (กระป๋องนี้ 2.8 ริงกิตแนะ)
ตื่นเช้ามาต้มบะหมี่กิน กับกาแฟกระป๋อง เช็คเอ้าต์ออกจากโรงแรมตั้งแต่ 7 โมงกว่า โรงแรมเช็คเอ้าต์ไวมาก ทันทีที่คืน Key card ก็ให้มัดจำคืนมา 20 ริงกิต ไม่เช็คห้อง
ออกจากโรงแรมเดินข้ามถนนแล้วเดินไปทางซ้ายแล้วข้ามถนนอีกทีจะเจอป้ายรถเมล์ที่อยู่หน้า McDonald’s ของห้าง Dataran Pahrawan ระยะทางจากโรงแรมก็ประมาณ 70 เมตร
รอรถประมาณ 10 นาทีรถก็มาเป็นรถคันสีแดง เหมือนที่เรานั่งเข้าเมือง เพื่อความชัวร์เราก็ถามคนขับอีกครั้งว่า Melaka Sentral? คนขับตอบว่าใช่ เลยจ่ายค่าโดยสารไป ค่าโดยสารจากป้ายนี้ไป Melaka Sentral คนละ 1.5 ริงกิตนะครับ ไม่ใช่ 1 ริงกิตเหมือนตอนเข้าเมือง สถาพรถตอนเช้าค่อนข้างโล่ง ยังไม่ค่อยมีคน
แปปเดียวก็มาถึง Melaka Sentral ขากลับไปกัวลาลัมเปอร์ขอลองใช้บริการเจ้าอื่นบ้าง เห็นคนข้างหน้ามาซื้อตั๋วกับ บ. Transnasional เลยคิดว่าจะลองเจ้านี้ดู เป็นตั๋วรอบ 8.30 น. ราคาคนละ 12.3 ริงกิต (ขามาคนละ 10 ริงกิต) ถึงกัวลาลัมเปอร์ 12.30 น.
เท่าที่เดินดูเที่ยวรถไป TBS กัวลาลัมเปอร์รู้สึกว่าเที่ยวแรกจะเป็นเวลา 8.30 น. ใครที่จะต้องไปขึ้นเครื่องกลับ ลองเผื่อเวลาดูดีๆ นะครับ
ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาขึ้นรถเลยลองสำรวจดูว่ามีรถจาก Melaka Sentral ไปไหนบ้าง บ. Nice มีไป KL Sentral แต่ราคาแพงไปหน่อย 22.5 ริงกิต
บ. Transnasional มีรถวิ่งไปถึงสนามบิน LCCT เลยครับ
Counter ในรูปล่างมีรถไปสิงคโปร์ ออกเกือบทุกชั่วโมง เที่ยวแรก 7.30 น. เที่ยวสุดท้าย 19.00 น. นอกจากนี้ยังมีรถไป Johor Bahru, ไปเกนติ้ง
ค่ารถจาก Melaka Sentral ไป เกนติ้ง คนละ 40 ริงกิต
บ. KKKL จำหน่ายตั๋วไปกัวลาลัมเปอร์, Johor Bahru, Parit Buntar, Butterworth, Penang, Alor Setar, Bukit Kayu Hitam
อีก Counter ที่อยู่ข้างๆ กันมีไปหาดใหญ่ด้วย
หน้าตารถ บ. Transnasional รถสวย และดูดีกว่าเจ้าอื่น ใครไปมะละกาแนะนำรถเจ้านี้เลยครับ
8.30 น. รถออกตรงเวลาครับ ภายในรถ สะอาดและดูดี มีที่นั่งเดี่ยวสำหรับคนมาคนเดียวด้วย ที่นั่งเดี่ยวจะอยู่ด้านหลังของรถ รถวิ่งมาได้ 1 ชั่วโมง มีจอดให้เข้าห้องน้ำด้วยครับ ใครอั้นมาก็ลงไปปลดทุกข์ได้ รถจอดประมาณ 10 นาที
ถึงแม้ขากลับเราจะเลือกใช้บริการกับ บ. Transnasional แต่มาตราฐานของคนขับก็เหมือนกันครับ สูบบุหรี่ตอนขับ กลิ่นฟุ้งเข้ามาในห้องโดยสาร คงเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องทำใจ ในประเทศมาเลเซีย
รถมาส่งที่สถานี TBS เหมือนเดิมครับ เดินขึ้นบันไดนิดนึง ก็เข้าตัวอาคาร TBS เลย หรือจะเดินไปขึ้นรถไฟ Komutor, KLIA Transit เลยก็ได้ครับ
ผมนั่งรถไฟไป KL Sentral ต่อ ไปเอากระเป๋า ชอปปิ้งเล็กๆ น้อยๆ ที่ร้าน Guardian ใน KL Sentral แล้วนั่ง Sky bus ยาวไป LCCT เลย
ที่ LCCT คนเยอะมากครับ เทียบกับปีที่แล้วที่ผมมามาเลเซีย คนเยอะขึ้น Counter เยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับการ Check in หรือ โหลดกระเป๋าที่ LCCT จะมีขั้นตอนดังนี้ครับ
1. ต่อแถว X-ray กระเป๋า เพื่อเข้าไปในโซน Check in ใครมีของเหลว หรือของต้องห้ามในการขึ้นเครื่อง ให้เก็บใส่กระเป๋าเดินทางที่จะโหลดได้เลยครับ
2. หลังจากเข้าไปในโซน Check in แล้วให้มองหน้าจอว่า Thailand อยู่ช่องไหน
3. ถ้าทำเวบเชคอินมาแล้วก็เข้าช่อง Baggage Drop ได้เลย วันที่ผมไป เที่ยวบินไป Thailand อยู่ประมาณช่อง R5 – R12
พอโหลดกระเป๋าเสร็จ จะหาข้าวกิน หรือเดินเข้า ตม. เลยก็ได้ครับ
ที่เกทรอขึ้นเครื่องมีฟรี wifi และที่ให้ชาร์จมือถือ, Notebook
หรือถ้าใครยังไม่ได้ซื้อของฝาก ก็ช๊อปได้ที่ Dutyfree ใน LCCT ของขายส่วนมากก็เป็น เหล้า บุหรี่ น้ำหอม ขนม ชอกโกแลต ผมซื้อชอกโกแลตเป็นกล่องเหล็กมาลองทาน ไม่ค่อยอร่อยเท่าไหร่ครับ เน้นถูก เกรดไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เวลาจ่ายเงินเค้าจะขอ Passport เราไปด้วยนะครับ
เที่ยวบินขากลับของเราเป็นเที่ยวบิน ไทยแอร์เอเชีย FD3574 เครื่องออกเวลา 15.35 น. ครับ
ที่ LCCT เป็นสนามบิน Low cost เราจะต้องเดินไปขึ้นเครื่องเองครับ ไม่มีงวงช้าง
เดินไปขึ้นเครื่อง
ขากลับนั่งไทยแอร์เอเชีย รู้สึกว่าคนไทย ทำงานบริการดีกว่าขามา (AK) เยอะเลย สุภาพ อ่อนน้อม ยิ้มแย้ม
ขากลับเราได้ข้าวฟรีจาก Air asia คนละกล่องเป็น Vegetarian Koftha Combo และ Chicken Tikka Combo? จากการจองล่วงหน้าทางเนต เค้าคงต้องการโปรโมทเมนูใหม่นะครับ เลยให้ฟรีในช่วงแรก มีแต่ข้าวให้ไม่มีน้ำนะครับ ถ้าหิวน้ำก็ซื้อกับแอร์ฯ ได้ น้ำเปล่าขวดเล็ก ขวดละ 40 บาท
Vegetarian Koftha Combo ข้าวมังสวิรัติ
Chicken Tikka Combo เสริฟพร้อมน้ำจิ้ม รสชาติพอใช้ได้ มีกลิ่นเครื่องเทศไม่แรงมาก
เราถึงสุวรรณภูมิตอนเกือบ 5 โมงเย็น และแล้วทริปเที่ยวมะละกา มาเลเซียก็เป็นอันจบลงเท่านี้ครับ ทริปหน้าคงเปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยวในไทยบ้าง ขอบคุณที่ติดตามชมครับ 🙂
สรุปค่าใช้จ่ายสำหรับ 2 คน 2 คืน 3 วัน
คืนแรกนอนที่กัวลาลัมเปอร์ บูกินบินตัง คืนที่สองนอนที่มะละกา
– ค่าเครื่องบิน Air asia 4,545 บาท (รวมค่าโหลดกระเป๋า, เลือกที่นั่ง และค่าธรรมเนียมการรูดบัตรแล้ว) โปร 250 บาท
– ค่าโรงแรมคืนแรก My Hotel @ Bukit Bintang 1,504 บาท
– ค่าโรงแรมคืนที่สอง Fenix Inn มะละกา 1,300 บาท
– ค่ากิน 3 วัน 1,300 บาท
– ค่าเดินทางในมาเลเซีย 1,200 บาท
– ชอปปิ้ง + ของฝาก 3,000 บาท
– อื่นๆ 1,000 บาท
รวม 13,849 บาท หรือ ตกคนละ 6,924 บาท
ที่พักแนะนำในมะละกา
The Baba House Hotel (โรงแรมเดอะบาบา เฮ้าส์)
บ้านไม้จีน สไตล์โบราณ อยู่ใกล้ถนนคนเดิน Jonker walk และ Dutch square ราคาไม่แพง มีอาหารเช้าให้ + ฟรี wifi ราคาประมาณ 1,300 บาท / คืน
|
|
Cafe 1511 Guesthouse (คาเฟ่ 1511 เกสท์เฮ้าส์)
บรรยากาศแบบเกสเฮ้าส์ สไตล์บ้านโบราณปารานากัน มีห้องนั่งเล่น คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนต ห้องดูหนังให้ใช้ฟรี ทำเลดีใกล้ Jonker walk และ Dutch square มีอาหารเช้าให้ + ฟรี wifi ราคาประมาณ 600 ? 800 บาท / คืน
|
|
Fenix Inn (ฟีนิกซ์อินน์)
โรงแรมเล็กๆ อยู่ติดถนนใกล้ห้าง Dataran Pahlawan และ Mahkota parade หาของกินง่าย เดินไป Dutch square ได้ไม่ไกล มีฟรี wifi ราคาประมาณ 1,200 บาท / คืน
|
Link
– จองโรงแรมมาเลเซีย, จองโรงแรมมะละกา
แผนที่ท่องเที่ยวมะละกา โดย emagtravel.com (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
แผนที่ท่องเที่ยวมะละกาสามารถก๊อปไปใช้ได้ แต่ช่วยทำ link กลับมาที่หน้านี้ด้วยนะครับ
เที่ยวต่างประเทศ ไม่ง้อทัวร์
เซินเจิ้น | ฮ่องกง 1 | ฮ่องกง 2 | มาเก๊า |
มาเลเซีย | มะละกา | ชอปปิ้งในมาเลเซีย | Genting (เกนติ้ง) |
สิงคโปร์ 1 | USS & Sentosa | สิงคโปร์ 2 | บาหลี |
Post Views 41208
ข้อมูลละเอียดมากค่ะ ขอบคุณนะคะ กำลังวางแผนจะไปเหมือนกัน
แอดมิน สุดยอดเลยค่ะ
ชัดเจน เข้าใจ เห็นภาพ
ขอบคุณข้อมูลมากๆค่ะ
Many thanks for the excellence information.
ขอบคุณมากค่ะ ข้อมูลละเอียดและมีประโยชน์มาก กำลังจะไปเที่ยวค่ะ
อ่านเพลินเลยค่ะ
สนุกจัง การท่องเที่ยวเป็นการเติมพลังให้ชีวิตจริง ๆ
ขอบคุณมากนะคะ
ขอบคุณมากๆค่ะ เราสนใจจะไปเที่ยวมาเลเซีย คุณรีวิวได้ระเอียดมากๆค่ะ
ขอบคุณมากๆ ค่ะ ข้อมูลดีมากค่ะ
เอาไปใช้จริงแล้ว ทำให้การเดินทางง่ายไปหมดค่ะ
ตอบคุณ Sumitta
ยินดีมากๆ เลยครับที่รีวิวนี้มีประโยชน์ 🙂
กำลังจะไปปีหน้าครับ ภูเก็ต เคแอล มาละกา สิงคโปร เคเแอล กลับภูเก็ต ..อ่านรีวิวนี้แล้ว จบเลยครับ รายละเอียดที่ผมต้องการ ขอลคุณครับผม
ตอบคุณ cha
ขอบคุณมากครับ สำหรับคำชม ไม่ทราบว่าทริป “ภูเก็ต เคแอล มาละกา สิงคโปร เคเแอล กลับภูเก็ต” นี่ทั้งหมดกี่วันครับเนี่ย เที่ยวยาวเลย ยาวจนน่าอิจฉา 🙂
อยากจะสอบถามค่ะ หากไปไม่ตรงศุกร์เสาร์ เเต่ไปเป็นวันหยุดปีใหม่ จะมีถนนคนเดินไหมคะ
ตอบคุณ pa
วันปีใหม่คิดว่าคนนคนเดินเปิดครับ