ดอยอ่างขาง โครงการหลวง เชียงใหม่
ข้อมูลประชาสัมพันธ์ ที่พักบนดอยอ่างขางมีการปิดเกือบทั้งหมด (ในโครงการหลวงปิด รีสอร์ทธรรมชาติอ่างขางก็ปิด) โดยเฉพาะบริเวณหน้าโครงการหลวง ปิดทั้งรีสอร์ทและร้านอาหาร ตลาดที่ขายของก็ปิดเช่นกัน ที่พักบางแห่งให้ลูกค้าที่จองมาแล้วเข้าพักได้ แต่ไม่รับจองเพิ่ม ใครที่จองไปแล้วให้ตรวจสอบกับที่พักเอานะครับ
นักท่องเที่ยวที่ต้องการไปเที่ยวดอยอ่างขาง ยังสามารถไปเที่ยวได้ตามปกติ ถ้าต้องการพักบนดอย พักได้ที่ลานกางเต๊นท์ตามจุดต่างๆ หรือ ไม่ก็พักรีสอร์ทใน อ.ฝาง
มาตราการปิดที่พักเป็นดอยอ่างขางเป็นมาตราตั้งแต่ 2561 และยังมีผลถึงปัจจุบน
ดอยอ่างขาง ตั้งอยู่ใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ใกล้กับชายแดนไทยพม่า เป็นดอยที่มีอากาศหนาวตลอดทั้งปี ในหน้าหนาวมีปรากฎการณ์น้ำค้างกลายเป็นน้ำแข็ง (แม่คะนิ้ง) ให้เห็นอยู่บ่อยๆ บนดอยเป็นที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานที่ปลูกพืชเมืองหนาว มีสวนดอกไม้เมืองหนาวปลูกให้นักท่องเที่ยวได้ชม บนดอยอ่างขางมีจุดชมวิวที่สวยอยู่หลายแห่ง เช่น ไร่สตรอเบอร์รี่ขั้นบันได จุดชมวิวกิ่วลม จุดชมวิวขอบด้ง และ ไร่ชา 2000
ในช่วงปีใหม่ – ต้นเดือนมกราคม ต้นพญาเสือโคร่ง หรือ ซากุระเมืองไทย จะออกดอกสีชมพูบานทั้งต้น อยู่ริมถนนฝั่งซ้ายและขวา ระหว่างทางขึ้นไปสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปชมความงามของดอยอ่างขางกันมาก ที่พักเต็มทุกที่
น้ำค้างแข็ง หรือ แม่คะนิ้ง มักจะมีในช่วงเดือนมกราคม จุดที่เกิดแม่คะนิ้งบ่อยจะอยู่ในโครงการหลวงแปลง 11 แปลงวิจัยและพัฒนาพลับ
ดอกพญาเสือโคร่งสีชมพู ที่ริมถนนทางขึ้นดอยอ่างขาง
สถานที่ท่องเที่ยว ดอยอ่างขาง |
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง (โครงการหลวงดอยอ่างขาง)
สวน 80 สถานีเกษตรหลวง อ่างขาง
ตั้งอยู่บนดอยอ่างขาง เป็นแหล่งปลูกพืชเมืองหนาว ผัก, ผลไม้, ดอกไม้เมืองหนาว สามารถเดินเที่ยวชม แปลงต้นไม้ชนิดต่างๆ ได้ ในช่วงเดือนมกราคม มีต้นซากุระสายพันธุ์ญี่ปุ่นออกดอกบาน และที่นี่ยังเป็นแหล่งดูนกหายากหลายชนิดที่หนีหนาว ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีบ้านพัก และ ร้านอาหารบริการนักท่องเที่ยว
- เปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.30 น.
- ค่าเข้าชม : คนละ 50 บาท, รถยนต์ 50 บาท (พักในโครงการหลวงไม่เสียค่าเข้า)
ไร่สตรอเบอร์รี่ขั้นบันได
ไร่สตรอเบอร์รี่ ดอยอ่างขาง
มีชื่อว่า “เนินป่าจ่าฟอร์เรนท์ พลทหารณรงค์” อยู่ที่เนินเขาหัวโล้น ชายแดนไทย – พม่า ปลูกแบบขั้นได สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ แนวภูเขาดอยหลวงเชียงดาวได้อย่างสวยงาม สตรอเบอร์รี่ที่ปลูกเป็นพันธุ์ 80 มีรสหวาน ส่งให้กับโครงการหลวง เมื่อก่อนแปลงสตรอเบอร์รี่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก สามารถเดินลงไปถ่ายรูปได้ทั้งแปลง แต่พอมีคนรู้จักมากขึ้น ก็ไปเด็ดสตรอว์เบอร์รี่ ทำต้นไม้เสียหายบ้าง หลังจากนั้นจึงมีการจำกัดจุดชมให้อยู่ได้เฉพาะ 2-3 ขั้นแรก
ไร่ชาแปลง 2000
ไร่ชาในช่วงปลายฝน
แหล่งผลิตชาคุณภาพดีบนดอยอ่างขาง อยู่ระหว่างบ้านนอแล และ บ้านขอบด้ง แปลงชาจะเป็นแบบขั้นบันได ลดหลั่นกันไปตามลำดับความสูง เห็นวิวภูเขาด้านหลังสวยงาม พื้นที่ค่อนข้างกว้างนักท่องเที่ยวสามารถเดินลงไปถ่ายรูปที่ไร่ชาได้
หมู่บ้านนอแล
ฐานปฏิบัติการบ้านนอแล
ฝั่งพม่า
ตั้งอยู่ระหว่างชายแดนไทย-พม่า มีจุดแบ่งแยกชายแดนที่ฐานปฏิบัติการบ้านนอแล ผู้คนที่นี่เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่องเชื้อสายพม่า อดีตเป็นชนเผ่าดั้งเดิมของพม่า มีผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของกลุ่มแม่บ้าน จำหน่าย เสื้อผ้า กระเป๋า ผ้าพันคอ เป็นต้น
หมู่บ้านขอบด้ง – จุดชมวิวขอบด้ง
จุดชมวิว พระอาทิตย์ขึ้น
เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่า มูเซอดำและเผ่ามูเซอแดงอาศัยอยู่ร่วมกัน คนที่นี่นับถือผี มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ประกอบอาชีพ ด้านการเกษตร และด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (เช่น อาบูแค เป็นกำไลถักด้วยหญ้าไข่เหามีสีสันและลวดลายในแบบของมูเซอ) เพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยว
ใกล้กับหมู่บ้านขอบด้ง มีจุดชมวิวขอบด้ง เป็นจุดที่สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก และทะเลหมอกได้ แต่หากวันไหนมีหมอกมากจะไม่สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นได้ ช่วงที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมมาก ชาวบ้านจะเปิดจำหน่ายอาหารและสินค้า
พระธาตุดอยอ่างขาง
พระธาตุดอยอ่างขาง
อยู่เส้นทางไป บ้านขอบด้ง บ้านนอแล ไม่ไกลจากปากทางเข้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ผู้ใดสนใจสามารถเดินทางขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยอ่างขางได้เพื่อความเป็นสิริ มงคล บนพระธาตุดอยอ่างขางค่อนข้างเงียบสงบ อากาศเย็นสบาย ล้อมรอบไปด้วยป่าสน และป่าเมเปิ้ล
หมู่บ้านคุ้ม
หมู่บ้านคุ้ม หน้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ตั้งอยู่หน้าทางเข้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นชุมชนขนาดเล็ก ประกอบด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน ได้แก่ ชาวไทยใหญ่ ชาวพม่าและชาวจีนฮ่อ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งได้อาศัยอยู่บริเวณนี้มานานแล้ว และเปิดร้านค้า ร้านอาหาร บริการให้นักท่องเที่ยว ที่ด้านหน้าหมู่บ้านคุ้มมีตู้ ATM ธ.ไทยพาณิชย์ เป็นตู้ ATM ตู้เดียวบนดอยอ่างขาง
หมายเหตุ. ตั้งแต่กลางปี 2018 พื้นที่บริเวณหมู่บ้านคุ้ม ไม่มีของขาย ไม่มีรีสอร์ทให้บริการแล้ว จากการจัดระเบียนพื้นที่บนดอยอ่างขาง
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)
ร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูปโครงการหลวง
จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ ในการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการศึกษาด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป และเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงแนว พระราชดําริในการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ภายในพิพิธภัณฑ์จำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูปโครงการหลวง และมีประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ รูปภาพความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมหนัก วันที่ 8 – 9 ตุลาคม 2549 มีผลทำให้โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ที่ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด เครื่องจักรพัง รถยนต์ถูกกระแสน้ำพัดพา โคลนเข้าไปในรถ การเข้าชมในพิพิธภัณฑ์ไม่มีค้าใช่จ่าย
จุดชมวิวกิ่วลม
เป็นจุดชายแดน ไทย – พม่า ตั้งอยู่ในฐานปฏิบัติการนอแล อยู่ทางด้านซ้ายมือก่อนถึงทางแยกซึ่งจะไปหมู่บ้านปะหล่องนอแลทางหนึ่ง และบ้านมูเซอขอบด้งทางหนึ่ง สามารถชมทะเลหมอกและวิวพระอาทิตย์ทั้งขึ้นและตก มองเห็นทิวเขารอบด้าน
หมู่บ้านหลวง
เป็นหมู่บ้านชาวจีนยูนานที่อพยพมาจากประเทศจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ได้แก่ ปลูกผักผลไม้ เช่น พลัม ลูกท้อ และสาลี่ ภายในหมู่บ้านยังมี ร้านข้าวซอยอิสลาม และซาลาเปา หมั่นโถ เพื่อขายให้นักท่องเที่ยว
ช่วงเวลาที่เหมาะสมดอยอ่างขาง สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่นิยมมาก คือฤดูหนาวดอกไม้เมืองหนาวออกดอกสวยงาม และดอกพญาเสือโคร่งจะบานสะพรั่งทั่วทั้งดอย
แผนที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย) จากเวบไซต์ www.angkhangstation.com
การเดินทาง |
รถยนต์ : | 1.ขึ้นดอยอ่างขาง ณ วัดหาดสำราญ กม 137 สามารถใช้เส้นทาง เชียงใหม่-ฝาง (เส้นทางหลวงหมายเลข 107) มาถึงปากทางขึ้นดอยอ่างขาง ให้เลี้ยวซ้ายตามถนน ซึ่งค่อนข้างลาดชัน มีทางโค้งและสูงชัน
2.ขึ้นดอยอ่างขาง ณ อำเภอเชียงดาว กม 79 จากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง (ทางหลวงหมายเลข 107) เดินทางเรื่อยมาจนถึงอำเภอเชียงดาว บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 79 จะพบทางแยก (เส้นทางหมายเลข 1) เลี้ยวซ้ายผ่าน ต.เมืองงาย บ้านอรุโณทัย บ้านหลวง เส้นทางค่อนข้างแคบแต่ไม่ลาดชัน |
รถโดยสาร : | จากจังหวัดเชียงใหม่มายังปากทางขึ้นดอยอ่างขาง สามารถไปขึ้นรถได้ที่
คิวรถช้างเผือก มีทั้งรถตู้ (ราคา 150 บาท) และรถบัสคันใหญ่ (ราคา 85 บาท) พิเศษตรงที่ ทางขึ้นอ่างขาง กม. 137 มีรถคิวสองแถว บริการ รับ-ส่ง นักท่องเที่ยวที่ไม่ขับรถขึ้นดอยเอง |
Post Views 9015