6 สถานที่ชมดอกพญาเสือโคร่ง เชียงใหม่
ดอกพญาเสือโคร่ง หรือ ซากุระเมืองไทย เป็นดอกไม้ที่บานในช่วงหน้าหนาว มีดอกสีขาว – ชมพูทั้งต้น โดยจะขึ้นได้ดีบนดอยที่สูง จังหวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาชมความงามของดอกพญาเสือโคร่งจะเป็นเชียงใหม่ เพราะมีให้ชมอยู่หลายจุด ทั้งแบบไปง่าย และไปยากชนิดที่ต้องนั่งรถ Off – road ขึ้นไป
ทาง Emagtravel.com ได้รวบรวม 6 สถานที่ชมดอกพญาเสือโคร่ง ในเชียงใหม่ ไว้เป็นข้อมูลให้กับคนที่ต้องการชมดอกพญาเสือโคร่ง
1. ขุนช่างเคี่ยน ดอยสุเทพ อำเภอเมือง
ชื่อเต็มคือ สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน เป็นจุดชมดอกพญาเสือโคร่ง ที่อยู่ใกล้เมืองเชียงใหม่มากที่สุด ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่เพียง 32 กิโลเมตร อยู่ในเส้นทางเดียวกับพระธาตุดอยสุเทพ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ และบ้านม้งดอยปุย
จุดชมดอกพญาเสือโคร่ง และ สถานที่ท่องเที่ยวบนขุนช่างเคี่ยน มี 3 ที่ดังนี้
- หัวโค้งบริเวณสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน (ไร่หน้า) คณะเกษตรศาสตร์ มช สองข้างทางจะเต็มไปด้วยต้นนางพญาเสือโคร่ง
- สถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน ในบริเวณนี้มีร้านกาแฟ ที่พัก ต้นนางพญาเสือโคร่ง ต้นกาแฟ ต้นไม้เมืองหนาว และมีที่จอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว
- บ้านขุนช่างเคี่ยน บ้านชาวเขาเผ่าม้ง ดูวิถีชีวิตชาวบ้าน และ ดอกนางพญาเสือโคร่ง ที่มีจำนวนมากในหมู่บ้าน
ช่วงเวลาชมดอกพญาเสือโคร่ง : 15-25 มกราคม
2. ขุนแม่ยะ อำเภอแม่แตง (ถนนหมายเลข 1095 แม่มาลัย-ปาย)
อยู่ในพื้นที่ของหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ ห่างจากอุทยานฯ ห้วยน้ำดังประมาณ 8 กิโลเมตร การเดินทางไปค่อนข้างลำบาก เส้นทางคดเคี้ยว และ 8 กิโลเมตรสุดท้ายเป็นทางลูกรัง สูงชัน ขึ้นได้เฉพาะรถ 4WD เท่านั้น ในช่วงดอกพญาเสือโคร่งบาน จะมีรถชาวบ้านรับจ้างจากปากทางไปยังขุนแม่ยะ เมื่อขึ้นไปถึงด้านบนจะเห็นดอกพญาเสือโคร่งบานกระจายกับต้นสน และมีวิวภูเขาด้านหลัง
การมาชมดอกพญาเสือโคร่งบนขุนแม่ยะ แนะนำให้จัดโปรแกรมรวมกับ ห้วยน้ำดัง – ปาย หรือถ้ามีเวลามากพอจะเพิ่มแม่ฮ่องสอนด้วยก็ได้
ช่วงเวลาชมดอกพญาเสือโคร่ง : 12-26 มกราคม
3. ดอยอ่างขาง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง
เป็นที่เดียวที่จะได้ชมทั้งดอกพญาเสือโคร่ง และซากุระสายพันธุ์ญี่ปุ่น เริ่มตั้งแต่ทางขึ้นดอยอ่างขาง ถนนหมายเลข 1249 (มาทางไชยปราการ) กับถนน 1178 (มาจากเชียงดาว) จะมีต้นพญาเสือโคร่งปลูกอยู่ริมสองข้างทาง ปีไหนอากาศดีๆ จะเป็นสีชมพูทั้งสองข้างทางคล้ายอุโมงค์ซากุระ และเมื่อเข้าไปที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สวน 80 ก็จะมีซากุระสายพันธุ์ญี่ปุ่น (Prunus serrulata) ให้ชม
ปัจจุบันที่พักบนดอยอ่างขางมีเฉพาะแบบกางเต๊นท์ หากต้องการความสะดวกอาจพักในตัวเมืองฝาง และขึ้นดอยอ่างขางตอนเช้าก็ได้
ช่วงเวลาชมดอกพญาเสือโคร่ง : 25 ธันวาคม – 10 มกราคม
4. โครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารี ดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง
อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ วิวที่นี่จะเห็นดอกพญาเสือโคร่งอยู่ล้อมรอบทะเลสาบ พื้นที่ไม่กว้างมาก เดินชมได้สบาย ภายในศูนย์อนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารี มีการตกแต่งภูมิทัศน์อย่างสวยงามด้วยสวนดอกไม้และกล้วยไม้ และเคยเป็นที่ถ่ายทำละครเรื่อง “ตามรักคืนใจ” ฉากที่นายสิงห์ พา หนูนามาชมความงานของดอกนางพญาเสือโคร่ง
ช่วงเวลาชมดอกพญาเสือโคร่ง : 4 – 14 มกราคม
5. ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) อำเภอจอมทอง
อยู่ถัดจากโครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารี ดอยอินทนนท์ ขึ้นไปด้านบนประมาณ 7 กิโลเมตร นอกจากมีดอกพญาเสือโคร่งที่บานสวยแล้วยังมีแปลงพืชเมืองหนาว เช่น แมคคาเดเมีย กาแฟ สาลี่ พลัม ท้อ แนคตารีน หรือสตรอว์เบอร์รี่ จุดชมดอกพญาเสือโคร่งจะอยู่ที่ด้านหน้าสถานีเกษตรขุนวาง กับด้านในโครงการ
ช่วงเวลาชมดอกพญาเสือโคร่ง : 7 – 17 มกราคม
6. ดอยผาตั้ง – เรือนประทับแรม (ดอยอินทนนท์)
ทางแยกขึ้นดอยผาตั้ง อยู่ถัดจากตลาดม้ง ขึ้นไปด้านบนประมาณ 8 กิโลเมตร ถนนลาดยาง ทางขึ้นค่อนข้างคดเคี้ยว แคบ ชัน รถเก๋ง Eco car ขึ้นไปได้ จุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งจะอยู่ข้างๆ เรือนประทับแรม หรือ บริเวณที่เคยเลี้ยงแกะ (ม่อนน้องแกะ) ต้นนางพญาเสือโคร่งจะปลูกเป็นแถวหลายสิบต้น ดอกสีชมพู ที่นี่คนไม่เยอะเหมือนขุนวาง
หมายเหตุ. พระตำหนักดอยผาตั้ง อินทนนท์ ที่หลายคนเรียกกัน เป็นการเรียกที่ผิด ชื่อที่ถูกต้องคือ เรือนประทับแรมดอยผาตั้ง
ช่วงเวลาชมดอกพญาเสือโคร่ง : 7 – 17 มกราคม (มักจะบานพร้อมกับขุนวาง)
7. ดอยแม่ตะมาน อำเภอเชียงดาว
การเดินทางไปดูดอกพญาเสือโคร่งที่นี่ ค่อนข้างลำบากกว่าที่อื่น เพราะช่วงขึ้นดอย 21 กิโลเมตรเป็นทางลูกรัง สูงชัน ต้องเดินทางด้วยรถ 4WD ยกสูงเท่านั้น แต่วิวด้านบนก็คุ้มค่ากับความลำบากที่ต้องแลกมา ได้ชมดูดอกพญาเสือโคร่งที่มีฉากหลังเป็นดอยหลวงเชียงดาว และมีพืชเมืองหนาวให้ชม
ช่วงเวลาชมดอกพญาเสือโคร่ง : 7 – 17 มกราคม
รวมภาพดอกพญาเสือโคร่ง |
ดอกพญาเสือโคร่ง ขุนช่างเคี่ยน
ดอกพญาเสือโคร่ง ขุนช่างเคี่ยน
ด้านในสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน
โครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารี ดอยอินทนนท์
โครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารี ดอยอินทนนท์
ดอยอ่างขาง ถนนหมายเลข 1249 (มาทางไชยปราการ)
ซากุระญี่ปุ่น โครงการหลวง ดอยอ่างขาง
Post Views 3496