คุ้มวงศ์บุรี บ้านสีชมพู แพร่

คุ้มวงศ์บุรี หรือ ที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดีในนามบ้านสีชมพู บ้านเก่าเรือนขนมปังขิง อายุกว่า 100 ปี ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ ว่ากันว่ามาถึง จ.แพร่ แล้วต้องมาชมความงามของคุ้มวงศ์บุรี ถึงจะเรียกว่ามาถึง

สถาปัตยกรรมเรือนขนมปังขิง

คุ้มวงศ์บุรีเป็นคุ้มของเจ้านายเมืองแพร่ในอดีต ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าชายสาม จุฬามณีศิริเมฆภูมินทร์ แห่งเชียงตุง* “ราชวงศ์มังราย” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 ตามดำริของเจ้าแม่บัวถา ชายาองค์แรกของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ โดยช่างชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง มาควบคุมการก่อสร้าง ร่วมกับช่างชาวไทยพื้นบ้าน โทนสีที่ใช้ในคุ้มวงศ์บุรีจะเป็นสีชมพูเนื่องจากเป็นสีโปรดของ แม่เจ้าบัวถา ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรม เรือนขนมปังขิง ตามความนิยมกันในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้สักสองชั้นแบบยุโรปประยุกต์ ฐานเป็นอิฐและซีเมนต์สูงจากพื้น 1 เมตร หลังคาสองชั้นมีช่องระบายลมระหว่างชั้นทั้งสอง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศเนื่องจากบ้านหันหน้าเข้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จึงมีลมพัดเย็นในฤดูร้อน บ้านทรงปั้นหยา 2 ชั้น มีเพดานสูง หลังคาสูง จุดเด่นของอาคารนี้คือลวดลายไม้แกะสลักที่หน้าจั่ว ชายคา ระเบียง ช่องลม ชายน้ำ หน้าต่าง และประตู ที่ประตูด้านหน้าเป็นปูนปั้นรูปแพะซึ่งเป็นตัวแทนของหลวงพงษ์พิบูลย์และแม่เจ้าสุนันทาซึ่งเกิดในปีแพะ

เกร็ดความรู้เมืองเชียงตุง*

เป็นเมืองหนึ่งในอาณาจักรล้านนา อยู่ในประเทศพม่า เป็นเมืองของชาวไทเขิน และชาวไทใหญ่ มีคำเปรียบเทียบว่าเป็นเมืองคู่แฝดเชียงใหม่ ในอดีตมีสองเมืองนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก มีการสมรสระหว่างเจ้าทั้งสองเมือง ได้แก่เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ กับเจ้าสุคันธา ณ เชียงตุง

ปัจจุบันคุ้มวงศ์บุรีมีอายุมากกว่า 100 ปีแล้ว แต่ยังอยู่ในสถาพที่สมบูรณ์ ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี พ.ศ. 2536 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ แล้วยังใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น รอยไหม และตีพิมพ์ในหนังสือต่าง ๆ

ในห้องนอน

ห้องนอน

โต๊ะทำงาน

ภายในบ้าน

ภายในคุ้มวงศ์บุรีได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ เข้าชม และ ถ่ายรูปได้ (บางห้อง) จัดแสดงประวัติความเป็นมาของบ้าน วิถีชีวิตของเจ้านายในอดีต โดยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นของเก่าแก่ตกทอดลงมากันในตระกูล ได้แก่ เครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา เอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารการซื้อขายทาส

ห้องเก็บของใช้ในบ้าน

เอกสารราชการเกี่ยวกับป่าไม้

สาระน่ารู้เกี่ยวกับเรือนขนมปังขิง

เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เป็นที่นิยมในสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรียที่ 2 แห่งอังกฤษ ซึ่งแพร่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการประดับตกแต่งลายฉลุ ดูหรูหรา สวยงามเหมือนขนมปังขิง (Ginger Bread)

เรือนขนมปังขิงในประเทศไทย

  • พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ภายในพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร
  • พระตำหนักเพ็ชร ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
  • โรงละครปรีดาลัย ภายในแพร่งนรา กรุงเทพมหานคร
  • หมู่กุฏิวัดสวนพลู กรุงเทพมหานคร
  • บ้านเอกะนาค ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร
  • คุ้มวงศ์บุรี จังหวัดแพร่
  • เรือนไม้สีเขียว เกาะสีชัง
การเข้าชม
เวลาทำการ : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00– 17.00 น.
ช่วงเวลาเที่ยว : ตลอดทั้งปี
ค่าเข้าชม

  • ผู้ใหญ่ ราคา 30 บาท/คน
  • เด็ก ราคา 10 บาท/คน
ที่ตั้ง
ที่อยู่ :
50 ถนนคำลือ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ 54000
เบอร์โทรศัพท์ :
เวบไซต์ :
การเดินทาง
รถยนต์ : ตั้งอยู่บนถนนคำลือ (ด้านหลังคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่) ใจกลางเมืองแพร่
จากถนนยันตริกจโกศล ใช้เส้นทางถนนเจริญเมืองประมาณ 1.2 กิโลเมตร ผ่านวงเวียน ขับตรงไป เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนคำลือประมาณ 400 เมตร บ้านวงศ์บุรีอยู่ทางขวามือ ด้านในมีที่จอดรถจอดได้หลายคัน ไม่เสียค่าจอดรถ

Post Views 685

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *