รีวิวเที่ยวบาหลี 7 วัน กับ 21 ที่เที่ยวที่ไม่ควรพลาด
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราจองตั๋ว Air asia ไปเที่ยวบาหลี บาหลีในตอนนั้นคนไทยยังไปไม่ค่อยมาก นิยมไปสิงคโปร์ กับฮ่องกงเสียมากกว่า ราคาตั๋วไปบาหลีช่วงโปรโมชั่น (ไป-กลับ) คนละไม่เกิน 2,500 บาท แต่หลังจากมีคนไปมากขึ้น ราคาตั๋วก็เพิ่มขึ้นไปด้วย ประกอบกับเส้นทางบาหลีไม่ค่อยมีสายการบินคู่แข่งด้วย
ครั้งแรกที่ไปบาหลีนั้นเรามีเวลาเพียง 3 วัน มีเวลาเที่ยวในบาหลีน้อยมาก เลยคิดว่าจะไปเที่ยวบาหลีอีกรอบในปี 2017 ครั้งนี้ไปแบบไม่รีบ ให้เวลา 7 วันเลย จะได้คุ้มกับค่าเดินทาง และมีเวลาเที่ยวได้หลายๆ ที่
ตั๋วเครื่องบิน
ตอนนี้เส้นทางกรุงเทพฯ – บาหลี มีให้เลือกถึง 3 สายการบิน ได้แก่ Air asia, Lion air และ การบินไทย สายการบินที่ราคาดีที่สุดในตอนนี้เป็น Lion air มีน้ำหนักกระเป๋าให้คนละ 20 กิโลกรัม ส่วนเที่ยวบินเยอะที่สุดจะเป็น Air asia มีวันละ 2 – 3 เที่ยวบิน
ทริปนี้เราจองตั๋วโปรฯ ดอนเมือง – บาหลี ของ Air asia ได้ในราคาคนละ 5,225 บาท ซื้ออาหารบนเครื่อง และโหลดกระเป๋าเพิ่มอีก ค่าตั๋วจบที่ราคาคนละ 6,403 บาท
แลกเงินไปบาหลี
บาหลีใช้เงินสกุลเดียวกับอินโดนีเซีย มีหน่วยเงินเป็นรูเปีย ตัวย่อ Rp หรือ IDR จะออกเสียงว่า “รูเปีย” หรือ “รูเปี๊ยะ” ก็ได้ แต่อย่าออกเสียงว่า “รูปี” เพราะนั่นเป็นเงินอินเดีย
การแลกเงินไปบาหลี ทำได้ 2 วิธี
- แลกเงินบาท (THB) เป็น รูเปีย (IDR) ที่ประเทศไทย นิยมแลกที่ร้าน Superrich ร้านเขียวหรือส้มก็ได้ เรทค่อนข้างดี แต่อย่าไปแลกในธนาคาร หรือ ในสนามบิน เพราะเรทจะขาดทุนมาก
- แลกเงินบาท (THB) เป็น ดอลล่าร์ (USD) ที่ประเทศไทย และ แลกดอลล่าร์ (USD) เป็นรูเปีย (IDR) ที่บาหลี วิธีนี้จะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าวิธีแรกนิดหน่อย ตอนแลกเงินดอลล่าร์ให้ขอธนบัตรใบใหม่ ไม่มีรอยยับ หรือขาด และควรเป็นใบละ 100 USD
คำนวณอัตราแลกเปลี่ยนอย่างง่ายๆ
เงินรูเปียมีตัวเลขค่อนข้างเยอะ ส่วนมากเลข 3 ตัวหลังมักจะเป็น 000 การแปลงเงินรูเปียเป็นเงินบาท คิดง่ายๆ ดังนี้
- ตัดเลข 3 ตัวหลังออก เช่น 10,
000ก็คือ 10 - นำเลขที่ตัดศูนย์ 3 ตัวออก คูณด้วย 2.5 ก็จะได้ตัวเลขเป็นเงินบาท
หมายเหตุ. การคำนวณคิดที่อัตราแลกเปลี่ยน 1000 IDR : 2.5 THB ในแต่ละช่วงเวลาอาจมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่างไปจากนี้
ตัวอย่าง ค่ารถจากสนามบินไปย่าน Kuta 180,000 IDR เท่ากับกี่บาท
180 x 2.5 = 450 บาท
ไปบาหลีต้องเตรียมอะไรเป็นพิเศษ
โสร่ง และ ผ้าผูกเอว วัดหลายแห่งกำหนดไว้ว่านักท่องเที่ยวจะต้องนุ่งโสร่ง และมีผ้าผูกเอว บางวัดก็มีโสร่งให้ยืม ให้เช่า แต่ถ้าไม่อยากใช้ร่วมกับคนอื่นควรเตรียมไปเอง จะเป็นโสร่งสีอะไรก็ได้ ขอให้มีความยาวมากกว่าครึ่งหน้าแข้ง
ร่ม – เสื้อกันฝน บาหลีมีฝนตกบ่อยควรเตรียม ร่มและเสื้อกันฝนติดตัวไปด้วย
ตัวแปลงปลั๊กไฟ รูปลั๊กไฟบาหลีเป็นแบบรูกลม 2 รู เบ้าลึกเข้าไปด้านใน แบบเดียวกับยุโรป แนะนำให้หาซื้อ Adaptor แปลงปลั๊กไฟจากไทยไปใช้
เครื่องชั่งน้ำหนักกระเป๋าเดินทาง เราซื้อน้ำหนักกระเป๋า Air asia 20 กิโลกรัม กับเสื้อผ้า ของใช้ จำนวน 8 วัน จำเป็นมากที่จะต้องคุมน้ำหนักไม่ให้เกิน 20 กิโลกรัม เครื่องชั่งน้ำหนักกระเป๋าเดินทาง จะช่วยบริหารน้ำหนักได้ เช่น ไม่ซื้อของเยอะ แบ่งของเป็นสัมภาระถือขึ้นเครื่อง
ซิมการ์ด เราซื้อ Sim2Fly Asia ที่สนามบินดอนเมือง ไปใช้เล่นอินเตอร์เนตที่บาหลี
การเดินทางในบาหลี ทำได้ 2 วิธี
- เช่ารถขับเอง จะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ หรือรถเก๋งก็ก็ได้
- เช่ารถพร้อมคนขับ ราคาวันละประมาณ 500,000 – 550,000 IDR ราคานี้รวมค่าน้ำมันแล้ว วิ่งวันละไม่เกิน 10 ชั่วโมง เจ้าที่คนไทยนิยมใช้บริการก็มี “แหม่ม บาหลี” และ “Teddy Team”
จากประสบการณ์ในทริปที่แล้ว เราเห็นแล้วว่าถนนในบาหลีค่อนข้างแคบ ขับยาก และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หาที่จอดรถยาก ดังนั้นการเช่ารถพร้อมคนขับก็เป็นทางเลือกที่ดี ค่ารถวันละ 500,000 IDR ก็ประมาณวันละ 1,250 บาท เท่านั้น (อัตราแลกเปลี่ยน 1000 IDR : 2.5 THB)
เราเลือกใช้บริการกับ แหม่ม บาหลี เนื่องจากเคยใช้บริการกันมาก่อนแล้ว เชื่อใจได้
โปรแกรมเที่ยวบาหลี
นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปบาหลีครั้งแรก สามารถให้คนขับรถจัดทริปให้ได้ เพียงแจ้งเค้าว่ามีเวลากี่วัน เดินทางไป – กลับ เวลากี่โมง การไปบาหลีครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 เราเลยจัดโปรแกรมเที่ยวเอง ตัดสถานที่ที่เคยไปในครั้งแรก และไม่อยากไปอีก เช่น วัดเบซากิห์ (Pura Besakih), วัดทานาห์ลอต (Pura Tanah Lot) วัดถ้ำช้าง (Pura Goa Gajah) และเพิ่มสถานที่แปลกๆ ที่ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมทัวร์ทั่วไป เช่น น้ำตก Tibumana Waterfall
วันที่ 1
- รับจากสนามบิน ไปยังโรงแรม ibis ย่าน Kuta
วันที่ 2
- Sukawati Art Market
- น้ำตก Tegenungan Waterfall
- Kerta Gosa Hall of Justice
วันที่ 3
- นาข้าวขั้นบันได Jatiluwih
- ตลาดผลไม้ Candi Kuning Fruit Market
- Pura Ulun Danu Bratan
- Sangeh Bali Monkey Forest
วันที่ 4
- นาข้าวขั้นบันได Tegalalang village
- Gunung Kawi Temple
- Pura Tirta Empul
- ร้านกาแฟขี้ชะมด
- หมู่บ้านวัฒนธรรม Penglipuran Village
- น้ำตกลึกลับในบาหลี Tibumana Waterfall
วันที่ 5
- Ubud Monkey Forest
- วัดเม็งวี Pura Taman Ayun
- วัดสระบัว Pura Sarawati
วันที่ 6
- ชายหาด Seminyak
- Waterblow คลื่นซัดแรงๆ
- ชายหาด Nusa Dua
- Uluwatu Temple
- ชายหาด Padang Padang
วันที่ 7
- รับจากโรงแรมย่าน Kuta ไปส่งยังสนามบิน
กล้องใหม่ Panasonic GF9
ทริปนี้เป็นการประเดิมกล้อง Mirrorless ตัวใหม่ Panasonic GF9 ทดลองใช้แทนกล้องที่ใช้งานประจำ DSLR Canon 70D เนื่องจาก 70D และเลนส์ที่เอาไปด้วย มันหนักพอสมควร จนรู้สึกว่าบางทีก็เป็นภาระเกินไป และการถ่ายรูปด้วยกล้อง 70D ในบางสถานที่ก็ดูไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนซักเท่าไหร่
ภาพในรีวิวนี้อาจจะดูช่วงเลนส์สั้น เพราะเรามีเพียงเลนส์คิต 12-32 ไปตัวเดียวเท่านั้น
วันเดินทาง
เที่ยวบินของเราเป็นเที่ยวบิน QZ 521 ให้บริการโดย Air asia Indonesia เครื่องออกจากสนามบินดอนเมืองเวลา 12.00 น. และถึงบาหลีเวลา 17.20 น. เที่ยวบินนี้เหมาะกับคนที่ไม่อยากตื่นตอนเช้ามืด ส่วนคนที่อยากมีเวลาเที่ยวเยอะๆ ก็ให้เลือกบิน FD 396 เครื่องออก 6.05 น.
9.00 น. ต่อแถว เช็คอิน – โหลดกระเป๋า ใช้เวลาเกือบ 20 นาที หลังจากนั้นก็ผ่าน ตม. เข้ามายังโซนผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ
ระหว่างรอขึ้นเครื่องก็ถ่ายรูปเล่นไปเรื่อยๆ หัดใช้กล้องใหม่ Panasonic GF9 กล้องใช้ง่ายดี และมีฟังก์ชันให้เล่นเยอะ
ขึ้นเครื่องไปบาหลี
ประมาณ 11.45 น. พนักงานก็ประกาศขึ้นเครื่อง ผู้โดยสารในเที่ยวนี้ส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ ยุโรป ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ส่วนคนไทยมีน้อย ประมาณ 10% ได้ อาจเป็นเพราะวันธรรมดาก็ได้
QZ 521 เดินทาง 12.00 น. ถึงบาหลี 17.20 น. (เวลาบาหลีเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง 20 นาที เป็นเส้นทางของ Air Asia ที่บินจากดอนเมือง บินไปไกลที่สุด ลูกเรือบนเครื่องเป็นชาวอินโดฯ หมดทุกคน ไม่มีลูกเรือคนไทย การประกาศบนเครื่องก็จะมีแต่ภาษาอังกฤษกับภาษาอินโดฯ ถ้าอยากบินกับลูกเรือไทยก็ให้เลือกเที่ยวบินที่ขึ้นต้นว่า FD
ใบ ตม. – ใบศุลกากร บาหลี (อินโดนีเซีย)
เครื่องออกได้ประมาณ 50 นาที ลูกเรือก็เดินแจกใบศุลกากร ส่วนใบ ตม. อินโนฯ ได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2016 ดังนั้นข้อมูลที่จะต้องกรอกก็มีเพียงใบศุลกากร ใบเดียวเท่านั้น กรอกเพียงครอบครัวละ 1 ใบ
พ่อ – แม่ – ลูก เดินทางไปด้วยกัน กรอก 1 ใบ
สามี – ภรรยา เดินทางไปด้วยกัน กรอก 1 ใบ
13.00 น. พนักงานเดินแจกอาหารให้กับผู้ที่ซื้อ Online และ ขายอาหารกับผู้ที่ไม่ได้ซื้อมาก่อน เราสั่งซื้อฮอตด็อกไก่ ทาง Online มาแล้ว ชุดนี้ราคา 100 บาท มีเครื่องดื่มมาให้ด้วย
แกะกระดาษห่อ เจอกับขนมปังแห้งกระด้าง ไส้กรอกไม่อร่อย ดูไม่น่าทานเลย แนะนำว่าอย่าสั่งเมนูนี้ สั่งเป็นเมนูข้าวไปเลยดูจะคุ้มและอร่อยกว่า
ทานฮอตดอกเสร็จ เปลี่ยนซิมเป็น Sim2fly เมื่อถึงบาหลีแล้วใช้เล่นเนตได้เลย การใช้งานโอเคไหม 3G ไวไหม ดูได้ในรีวิวนี้ครับ รีวิว SIM2Fly ใช้งานจริงที่บาหลี
การเดินทางด้วยสายการบิน Low cost เป็นเวลาหลายชั่วโมงเป็นอะไรที่น่าเบื่อมาก ลูกเรือก็คงคิดเหมือนกันกับเรา เลยหยิบกีตาร์ ร้องเพลงผ่านไมค์ให้ผู้โดยสารฟังซะเลย เป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายหมาย บินมาแล้วหลายทริปไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน
ร้องเพลง เล่นกีตาร์ เป็นจริงเป็นจัง 5-6 เพลง เช่น Jason Mraz – I’m Yours, Jessie J – Price Tag ft. B.o.B ฯลฯ ผู้โดยสารทั้งลำก็สนุกไปกับเพลง มีเสียงปรบมือเมื่อจบเพลง และมีผู้โดยสารที่อดไม่ไหวต้องเปิดเอาอูคูเลเล่ ในช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะมาร่วมแจมด้วย
16.10 น. (เวลาไทย) เครื่องบินบินต่ำลง ผ่านหมู่เกาะมากมาย เป็นที่รู้กันว่าเราอยู่บนน่านฟ้าอินโดนีเซียแล้ว
ถึงสนามบิน Denpasar Ngurah Rai
18.00 น. (เวลาบาหลี) เครื่องลงจอดที่สนามบิน Ngurah Rai ก่อนลง ให้ปรับนาฬิกาข้อมือเป็นเวลา +1 ชั่วโมงเมื่อเทียบกับเวลาไทย สนามบินบาหลี ตอนนี้ภายในดูดีมาก ดีกว่าที่เรามาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีการพัฒนาที่ดีขึ้นสมกับเป็นเมื่องท่องเที่ยวที่สำคัญของอินโดนีเซีย
จากนั้นก็ผ่าน ตม. บาหลี ตม. ที่นี่สบายๆ ไม่ถามอะไรเลย ในพื้นที่ ตม. ห้ามถ่ายรูปโดยเด็ดขาด หากเจ้าหน้าที่เห็นจะเรียกไปปรับ ไม่เพียงแต่ในบาหลีเท่านั้น พื้นที่ ตม. ในสนามบินต่างๆ ทั่วโลกก็ห้ามถ่ายรูปเช่นกัน
ในสนามบินมีฟรี wifi ถ้าต้องการใช้เนต ติดต่อคนทางบ้าน ติดต่อคนขับรถ ให้เปิดมือถือหา wifi SSID : @NgurahRaiAirport แล้วกด Continue
รับกระเป๋าที่สายพานเสร็จ ที่ทางออกจะต้องผ่านศุลกากร กระเป๋าใบใหญ่จะต้องถูกสแกน และ จะต้องนำใบศุลกากรที่เขียนบนเครื่อง ให้เจ้าหน้าที่ตรงนี้
แลกเงินดอลล่าร์ เป็นเงินรูเปีย อินโดนีเซีย
ออกจากประตูมา จะมีร้านแลกเงินอยู่หลายร้าน อัตราแลกเปลี่ยนร้านในสนามบิน ช่วงที่เราไป 1 USD : 12,900 IDR แต่ถ้าไปแลกร้านข้างนอกเรทจะดีกว่านิดหน่อย ประมาณ 1 USD : 13,200 IDR
การแลกเงิน ควรแลกแต่พอดี อย่าเผื่อมาก เพราะเงินอินโดที่เหลือจากทริป เมื่อนำกลับประเทศไทย จะหาร้านรับแลกคืนเป็นเงินบาทที่ให้เรทดี ยาก
เราดูเรทร้านที่สนามบินแล้ว พอรับได้ เลยตัดสินใจแลกที่สนามบินไปเลย 700 USD x 12900 = 9,030,000 IDR (ประมาณ 23,500 บาท) เงินรูเปียมีตัวเลขที่ค่อนข้างเยอะ ควรเช็คและนับทวนให้ดีก่อนออกจากร้านแลกเงิน
การเดินทางจากสนามบิน ไปยังคูต้า (Kuta)
ก่อนที่จะเดินทางมายังบาหลี เราได้หาข้อมูลรถสาธารณะจากสนามบินมายังเมืองคูต้า ไม่พบข้อมูลว่ามีใครเคยใช้บริการ มีเพียงแต่ Taxi เท่านั้น และราคาค่าโดยสารก็แพงอย่างเหลือเชื่อ มักจะเปิดราคาเผื่อต่อรองที่ 300,000 IDR (ประมาณ 740 บาท) กับระยะทางเพียง 3-5 กิโลเมตร
ต่อราคาแบบสุดๆ แล้วมักจะจบที่ 200,000-250,000 IDR ก็ยังถือว่าเป็นราคาที่แพงอยู่ดี
ในเมื่อ Taxi ก็แพง แถมต้องต่อรองราคา ต่อกันไป ต่อกันมา อาจหัวเสียก่อนที่จะถึงโรงแรม เราเลยให้คนขับที่จะพาเราเที่ยวในทริปนี้มารับ เค้าคิดราคา 180,000 IDR
หาคนขับที่จุดนัดพบ
18.30 น. แลกเงินเสร็จก็เดินออกมาด้านนอก จุดนี้จะมีคนขับรถ รถโรงแรม ไกด์ จำนวนมากยืนชูป้ายอยู่ เราต้องไล่มองหาชื่อทีละป้าย หาว่าคนขับรถเราอยู่ที่ไหน
ในที่สุดก็เจอคนขับรถ เป็นผู้ชายมีหนวด หน้าดุ นามว่า Ketut เจอหน้ากันก็ทำความรู้จัก แนะนำตัว และช่วยลากกระเป๋าเราไปยังรถ
รถของ Ketut เป็น Toyota Fortuner สีดำ ดีกว่ารถของเจ้าอื่นที่ส่วนมากจะใช้ Toyota Avanza หรือ Suzuki APV
ที่พักของเราในคืนนี้ พักที่โรงแรม ibis Bali Kuta ห่างจากสนามบินเพียง 2.8 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 15 นาที รถติดตลอดทาง เมื่อถึงโรงแรมแล้วก็จ่าย 180,000 IDR + 20,000 IDR ทิป ให้กับคนขับ รวมเป็น 2 แสนพอดี
ข้อมูลโรงแรม ibis Bali Kuta
เป็นโรงแรมในเครือ ibis มีสาขาตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก มาตราฐานโรงแรมระดับ 3 ดาว สาขา Kuta มีห้องพักทั้งหมด 156 ห้อง ห้องพักมีแบบ Standard Twin และ Standard Double ที่ตั้งของโรงแรมจะอยู่ในเมือง Kuta ห่างจากหาด Kuta ประมาณ 2 กิโลเมตร และห่างจากสนามบิน 2.8 กิโลเมตร เป็นโรงแรมที่สะดวกในการเดินทางไปสนามบิน หรือมาจากสนามบิน
การตกแต่งโรงแรม จะผสมผสานระหว่าง Budget Hotel กับของตกแต่งสไตล์บาหลี เช่นรูปภาพ รูปปั้น ผ้าปูโต๊ะ
ราคาโรงแรม ibis Bali Kuta
เราจองห้อง Standard Twin + อาหารเช้า กับ agoda ได้ในราคา 1,078 บาท ราคาถูกอย่างเหลือเชื่อ หรือ อาจจะเป็นโปรฯ อะไรซักอย่าง
การเช็คอินโรงแรมใช้ Passport เพียงอย่างเดียว และเซ็นเอกสารการเข้าพัก พนักงานก็จะให้ Key card
จากประสบการณ์ที่นอน ibis ในประเทศไทยมาหลายแห่ง ทุกที่มีผังห้องเหมือนกัน ความสะอาด และมาตราฐานห้องเหมือนกัน แล้วที่บาหลีละ จะเหมือนในไทยไหม? เราเข้าไปดูกัน
ภายในห้องตกแต่งคล้าย ibis ในประเทศไทย แต่ที่แตกต่างคือ ที่บาหลี ห้องดูเก่ากว่า ความสะอาดยังไม่ดีเท่าในไทย
ห้องนี้ไม่มีระเบียง ด้านหลังห้องมีที่นั่ง มีโต๊ะ เก้าอี้ให้นั่งทำงาน
น้ำดื่มฟรี 2 ขวด กาต้มน้ำ ชา กาแฟ ก็มีให้
รูปลั๊กไฟในห้องเป็นรูปลั๊กแบบเดียวกับอินโดนีเซีย และ ยุโรป รูปลั๊ก 2 ขากลม เบ้าตัวรับจะลึกลงไปแนะนำให้ซื้อตัวแปลงปลั๊กไฟจากไทยไปใช้ อันละ 65 บาทเท่านั้น จัดส่งฟรีด้วย ตัวแปลงปลั๊กไฟ อินโด – บาหลี
เข้ามาดูในห้องน้ำ ผังก็คล้ายกับ ibis ประเทศไทย
ร้านอาหาร – ร้านสะดวกซื้อใกล้โรงแรม
ติดกับโรงแรมเป็นร้านสะดวกซื้อ Circle K มีขนม เครื่องดื่ม และของใช้ทั่วไป ส่วนร้านอาหารรอบๆ โรงแรมก็มีหลายร้าน เช่นอาหารทะเล อาหารจีนฮ่องกง ร้านอาหารท้องถิ่น ร้านอาหารตามสั่งคล้ายๆ ร้านข้าวต้ม เดินไปได้หมด
อาหารเช้า
เป็นอาหารเช้าแบบ Buffet ทานได้ที่ชั้น 1 ตั้งแต่ 7 โมง อาหารมีไม่กี่รายการ และไม่มีอาหารที่ทำจากหมู เมนูที่จำได้ก็มีไส้กรอก ไข่กวน (Scrambled eggs) ไก่ย่าง สลัด ซีเรียล ข้าวผัด ผัดเส้น ผลไม้
เครื่องดื่มก็มี ชา กาแฟ น้ำผลไม้
รสชาติอาหารพอทานได้ แต่ยังไม่ค่อยถูกปากเท่าไหร่
ทานข้าวเสร็จ เก็บของ เช็คเอ้าต์ และรอคนขับรถมารับ วันนี้เป็นวันแรกที่เราจะได้เริ่มโปรแกรมเที่ยวในบาหลี ส่วนจะไปไหนบ้าง ติดตามในตอนต่อไปนะครับ
อ่านตอนต่อไป เที่ยวบาหลี ตลาด Sukawati – น้ำตก Tegenungan – Kerta Gosa
Post Views 26437