แหล่งเตาเผาและเครื่องเคลือบบ้านบ่อสวก น่าน
แหล่งเตาเผาและเครื่องเคลือบบ้านบ่อสวก บ้านบ่อสวก ในอดีตเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองน่าน มีรูปแบบและกรรมวิธีการผลิตเป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง คาดว่าเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาจากบ้านบ่อสวกเคยได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะได้ขุดพบตามแหล่งฝังศพของคนในสมัยก่อน โดยเฉพาะแถบเทือกเขาในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อเนื่องไปจนถึงจังหวัดตาก และกำแพงเพชร
สันนิษฐานว่าการผลิตเครื่องเคลือบที่บ้านบ่อสวกเริ่มขึ้นและพัฒนาในสมัยเจ้าพระยาพลเทพฤาชัย (พ.ศ.2071-2102) ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของเมืองน่าน วิทยาการเตาเผาและเครื่องเคลือบเมืองน่านได้รับจากล้านนา เช่น จากกลุ่มสันกำแพง กลุ่มกาหลง ซึ่งเป็นกลุ่มเตาใกล้นครเชียงใหม่
เตาเผาแห่งนี้ได้รับการสำรวจและศึกษาเบื้องต้น โดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นแหล่งโบราณคดีชุมชนอยู่ที่บ้านบ่อสวกพัฒนา หมู่ 10 ตำบลบ่อสวก ห่างจากตัวเมือง 17 กิโลเมตร? แหล่งที่มีการค้นพบเตาเผาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 ตั้งอยู่ในเขตบ้านพักของ จ.ส.ต.มนัส และคุณสุนัน ติคำ บริเวณที่พบเตาอยู่ริมแม่น้ำ ลักษณะของเตาหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเพื่อสะดวกในการขนส่ง
ภายในเป็นโพรงใหญ่เพื่อให้คนเข้าไปข้างในได้ เตามีความลาดเอียงและมีปล่องระบายอากาศอยู่ด้านบน เตาโบราณจำนวน 2 เตาได้รับการบูรณะ และก่อสร้างอาคารถาวรคลุม ส่วนบริเวณใต้ถุนบ้าน จ่ามนัสจัดเป็นนิทรรศการแสดงโบราณวัตถุจากแหล่งเตาเผา การขุดค้นศึกษาแหล่งเตาเมืองน่านบ้านบ่อสวก
ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในการทำงานวิจัยทาง ?โบราณคดีชุมชน? โดยการร่วมมือระหว่างชาวบ้าน องค์กรเอกชน ส่วนราชการในท้องถิ่น และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความงอกงามทางความรู้และความเข้มแข็งของชุมชนไปพร้อมกัน ในอนาคตจะมีการจัดตั้งกองทุนโบราณคดีชุมชนบ้านบ่อสวก และนำเงินจากกองทุนเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน เช่น การฟื้นฟูอาชีพเครื่องปั้นดินเผา การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หมู่บ้าน และการอบรมมัคคุเทศก์ชุมชน
ที่มา. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
Post Views 711