รีวิวสายการบิน Cathay Pacific เส้นทางเชียงใหม่ – โอซาก้า ต่อเครื่องที่ฮ่องกง

การเดินทางจากเชียงใหม่ ไปโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เป็นเส้นทางที่ไม่มีเครื่องบินบินตรง จะต้องไปต่อเครื่อง โดยปกติแล้วนิยมไปต่อเครื่องที่กรุงเทพฯ แล้วบินยาวไปลงโอซาก้า แต่จากเช็คราคาตั๋ว พบว่าการต่อเครื่องแบบนี้ตั๋วเครื่องบินมีราคาแพง และเสียเวลาในการบินอ้อมไปลงกรุงเทพฯ

เราเลยลองหาทางเลือกใหม่ แบบต่อเครื่องที่ฮ่องกง เจอราคาที่ไม่แพง เดินทางดังนี้ เชียงใหม่ (CNX) – ฮ่องกง (HKG) – โอซาก้า (KIX) ด้วยสายการบิน Dragon air* และ Cathay Pacific

Dragon air* ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 Dragon air ได้ถูก Take Over โดย Cathay Pacific ทำให้สถานะของ Dragon air เป็นเสมือนสายการบินลูกของ Cathay Pacific

ราคาที่ได้อยู่ที่คนละ 16,825 บาท บินช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงใบไม้เปลี่ยนสี ช่วงพีคของโอซาก้า บิน Full Service โหลดกระเป๋าได้คนละ 20 กิโลกรัม ถือว่าเป็นราคาที่ไม่แพง เราจองตั๋วเครื่องบินผ่านทางเอเจนซี่ KMT ราคาที่ได้จะถูกกว่าจองผ่านหน้าเวบ Cathay Pacific ประมาณ 1 พันบาท หลังจากชำระเงินแล้ว ทาง KMT จะออก e-ticket ให้ สามารถนำไปใช้ขึ้นเครื่องได้เลย

เส้นทางการบินดังนี้

เชียงใหม่ (CNX) – ฮ่องกง (HKG) : CX5233 (KA233) 18:25 น. ถึงฮ่องกงเวลา 22:00 น.

ฮ่องกง (HKG) – โอซาก้า (KIX) : CX566 1:50 น. ถึงโอซาก้าเวลา 6:15 น.

ส่วนเวลาขากลับดังนี้

โอซาก้า (KIX) – ฮ่องกง (HKG) : CX503 10:00 ถึงฮ่องกงเวลา 13:25 น.

ฮ่องกง (HKG) – เชียงใหม่ (CNX) : CX5232 (KA232) 14:40 น. ถึงเชียงใหม่เวลา 16:40 น.

ทุกเที่ยวบินโหลดสัมภาระได้คนละ 20 กิโลกรัม

จากเวลาด้านบนจะเห็นว่าขาไปบินกลางคืน ได้งีบบนเครื่อง ลงเครื่องปุ๊บเที่ยวได้เลย ส่วนขากลับตื่นมาก็ต้องไปขึ้นเครื่องที่สนามบินเลย

Check in Online

สายการบิน Dragon Air และ Cathay Pacific เป็นสายการบินที่ไม่สามารถจองที่นั่งได้ตอนที่ซื้อตั๋ว ต้องเลือกที่นั่งผ่านทาง Check in Online ซึ่งจะ Check in ได้ล่วงหน้า 48 ชั่วโมง ในกรณีที่ต่อเครื่องสามารถเช็คอินเครื่องที่จะต่อได้เลย เครื่องที่จะต่อไม่จำเป็นต้องรอ 48 ชั่วโมง

เราเข้าไป Check in ที่หน้าเวบ www.cathaypacific.com ตั้งแต่ 5 นาทีแรก ได้ที่นั่งค่อนข้างโอเค อยู่ในช่วงต้นๆ ฝั่งหัวเครื่องบิน

การ Check in Online มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ให้กรอกข้อมูล Passport และยืนยันว่าไม่พกสิ่งของอันตรายขึ้นเครื่องบิน ใช้เวลาประมาณ 3 – 5 นาที หลังจาก Check in จะได้ E-boarding pass ให้เซฟเก็บไว้ในโทรศัพท์

ขาไป เชียงใหม่ – ฮ่องกง – โอซาก้า

ในวันเดินทาง เราขึ้นเครื่องที่สนามบินเชียงใหม่ ฝั่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ Counter ของ Dragon Air จะเปิดให้เช็คอินก่อนเครื่องออกประมาณ 2 ชั่วโมง

ผู้โดยสารที่ Check in Online มาแล้วจะมีแถวพิเศษให้โหลดกระเป๋า

การเช็คอินก็ใช้ Passport กระเป๋าจะ Check Through ไปโผล่ที่โอซาก้าเลย หลังจากเช็คอินแล้วจะได้ ใบ ตม. ไทย และ Boarding Pass 2 ใบ ใบแรกเป็นเส้นทางเชียงใหม่ – ฮ่องกง และใบที่สองเป็นเส้นทาง ฮ่องกง – โอซาก้า

กรอกใบ ตม. เสร็จก็ผ่านเข้า ตม. สนามบินเชียงใหม่

ออกจาก ตม. มาแล้วก็เข้าอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีร้านค้า King power duty free ให้ชอปปิ้ง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ชาวจีนช๊อปปิ้งกันค่อนข้างเยอะ

เราขึ้นเครื่องที่เกต 6 พนักงานจะเริ่มเรียกขึ้นเครื่องตอน 6 โมงเย็น โดยจะเรียกผู้โดยสารที่มี Class สูงขึ้นเครื่องก่อน แล้วตามด้วย Economy class

เที่ยวบิน KA233 บินด้วยเครื่อง A320 แบบเดียวกับที่ Thai Air asia ใช้ ระยะเวลาการบิน เชียงใหม่ – ฮ่องกง 2 ชั่วโมง 35 นาที

การจัดวางที่นั่งของเครื่องบิน ประกอบด้วย Economy Class 168 ที่นั่ง ในส่วนของ Economy Class มีที่นั่งแบบพิเศษ ที่วางขากว้าง (Extra-legroom Seats) ในแถวที่ 22-27 และ 33 ที่นั่ง Extra-legroom Seats มีค่าใช้จ่าย 35 USD (Short-haul) แต่ก็มีวิธีที่จะได้มาฟรีๆ ด้วยการรีบ Check in Online ที่นั่ง Extra-legroom Seats ที่ไม่มีคนซื้อก็จะถูกปล่อยออกมาเป็นที่นั่งปกติ เลือกได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ช่องวางขากว้าง สามารถที่จะเดินผ่านได้โดยมีคนนั่งอยู่ เบาะนั่งสบายมาก พนักพิงหลังเอียงนิดหน่อย ไม่ได้ตั้งเกือบตรงเหมือนสายการบิน Low cost

บนเบาะไม่มีหมอน และ ผ้าห่มให้ แต่สามารถขอได้กับลูกเรือบนเครื่อง

ลูกเรือบนเครื่องดูแล้วเป็นชาวเอเชีย น่าจะเป็นคนฮ่องกง หรือ จีน แต่ไม่มีคนไทย อายุไม่มาก เสียงประกาศบนเครื่องจะมีภาษาจีนและอังกฤษ

เครื่องขึ้นได้ประมาณ 20 นาที ลูกเรือก็เริ่มเสริฟอาหาร เมนูนี้เป็นปลา มีหมี่เป็นอาหารแกล้ม ของหวานมีไอศครีม Häagen-Dazs และช๊อกโกแลต TOBLERONE มีน้ำเปล่าให้ 1 ขวด ปริมาณอาหารไม่มาก ไม่น้อยเกินไป รสชาติกลางๆ ทำมาให้กินได้ทุกชาติ

เสร็จจากทานอาหาร ก็ไม่รู้จะทำอะไร PTV ก็ไม่มีให้ดู ใครที่มี iPad จะช่วยได้เยอะเลยครับ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ฆ่าเวลากันไป

เครื่องลงจอดที่สนามบินฮ่องกง ตรงตามเวลาที่กำหนด 22:00 น. มีรถบัสมารับเข้าอาคารผู้โดยสาร

ขั้นตอนต่อไปนี้จะเป็นการต่อเครื่อง ให้เราเดินตามป้าย Transfer ป้ายเหลือง

มองจอว่าอยู่เกตไหน เที่ยวบินของเราคือ CX566 ได้เกตที่ 19

เดินเข้าประตูในรูปด้านล่าง เจ้าหน้าที่จะขอดู Boarding Pass จากนั้นก็ผ่านขั้นตอนตรวจสัมภาระ น้ำดื่ม ไม่สามารถเข้าไปได้

จากนั้นนั่งรถไฟในสนามบินไปยังเกต

เดินต่ออีกพักใหญ่ๆ ก็มาถึงเกต 19 รวมแล้วใช้เวลาต่อเครื่องประมาณ 30 นาที

เรามีเวลาเหลือเฟือ จนน่าเบื่อที่สนามบินฮ่องกง ถึง 3 ชั่วโมง 50 นาที เป็นเวลานอนพอดี โชคดีว่าสนามบินฮ่องกงมีที่นั่งสบาย มีฟรี wifi, คอมพิวเตอร์ ให้ใช้, มีปลั๊กไฟชาร์จโทรศัพท์ ห้องน้ำเดินไม่ไกล (แต่ร้านอาหารอยู่ไกล) เลยนั่งเล่นเนตจนถึงเวลา Boarding

พนักงานทยอยเรียกขึ้นเครื่องเวลา 1:20 น.

เที่ยวบิน CX566 มีกำหนดเวลาเครื่องออก 1:50 น. และ ถึงโอซาก้าเวลา 6:15 น. ระยะเวลาบิน 3 ชั่วโมง 25 นาที ให้บริการด้วยเครื่องบิน A330 – 300 (ไม่แน่ใจว่า Class อะไร)

ภายในเครื่องบินดูใหม่ และสะอาด การจัดวางที่นั่งเป็นแบบ 2 – 4 – 2 (AC – DEFG – HK) เหมาะสำหรับคนที่มาเป็นคู่

ทุกที่นั่งจะมีหูฟัง ผ้าห่ม และหมอนให้

มี PTV ประจำทุกที่นั่ง จอแบบ Touch screen ไม่มีรีโมท เมนูใน PTV มีหนัง, รายการ TV, เพลง, เกม และแผนที่ เท่าที่ลองเล่นดูไม่มีหนังไทย และ เพลงไทย เราคงไม่ใช่ลูกค้าส่วนใหญ่ของเค้า

ใต้ PTV มีช่องเสียบ USB สามารถชาร์จโทรศัพท์มือถือได้

ก่อนเครื่องจะขึ้น พนักงานเดินแจกใบ ตม. และ ศุลกากรญี่ปุ่น มีเวลาพอที่จะกรอกเสร็จก่อนที่เครื่องจะ Take Off

Link. การกรอกใบ ตม. และ ศุลกากรญี่ปุ่น

เมื่อเครื่องบินรักษาระดับได้ ลูกเรือเดินแจกกล่องอาหารว่าง เดินแจกไวมาก ไม่รบกวนเวลานอนของผู้โดยสาร

ของที่แจกก็มี ชามะนาว 1 กล่อง ผลไม้ เค้ก แซนวิช และคุกกี้ 1 ชิ้น ก็เพียงพอสำหรับมื้อเบาๆ เวลาตีสองกว่าๆ ทานเสร็จก็ได้งีบสักพัก ตื่นอีกทีประมาณ ตี 5 ครึ่ง มีเสียงประกาศมาจากกัปตัน ว่ากำลังจะ Landing

เครื่องลงจอดที่สนามบินคันไซ โอซาก้า (KIX) ตามกำหนดเวลาเป๊ะเลย 6:15 น.

ลงจากเครื่องแล้วเราจะต้องนั่งรถไฟเข้าไปยังอาคาร ผ่าน ตม. ญี่ปุ่น และ ศุลกากร

ในครั้งนี้ผมเดินทางเข้าญี่ปุ่น ด้วย Passport ขาว เพราะเพิ่งทำเล่มใหม่ แทนเล่มเก่าที่ใกล้จะหมดอายุ แต่ก็คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร

พอถึงต่าน ตม. ก็ยื่น Passport พร้อมแนบใบ ตม. ไว้ในเล่ม ทำการสแกนลายนิ้วมือ เท่านี้ก็เรียบร้อย จากนั้นก็รอรับกระเป๋า ใช้เวลาไม่นาน กระเป๋า 2 ใบ มาครบ ก็เดินผ่านศุลกากร ที่ขึ้นชื่อว่าชอบถาม ชอบขอค้นกระเป๋า

เรายื่นใบเหลืองให้กับศุลกากร ศุลกากรก็ถามว่ามากี่วัน ตอบ 9 วัน จบ … แยกย้ายกันไป

ในส่วนของการเดินทางขาไปก็จบเพียงเท่านี้

ตัดมาที่ขากลับ โอซาก้า (KIX) – ฮ่องกง (HKG) : CX503 10:00 ถึงฮ่องกงเวลา 13:25 น.

ฮ่องกง (HKG) – เชียงใหม่ (CNX) : CX5232 (KA232) 14:40 น. ถึงเชียงใหม่เวลา 16:40 น.

ขากลับ โอซาก้า – ฮ่องกง – เชียงใหม่

เราได้ Check in Online มาแล้ว เมื่อถึงสนามบันคันไซ (KIX) ก็เดินเข้าช่องผู้โดยสารที่ Check in Online มาแล้ว ทำการโหลดกระเป๋า

เสร็จจากการเช็คอินจะได้ Boarding Pass มา 2 ใบ ในแรกเส้นทางโอซาก้า (KIX) – ฮ่องกง (HKG) และใบที่สอง เส้นทาง ฮ่องกง (HKG) – เชียงใหม่ (CNX) กระเป๋าจะ Check Through ไปยังเชียงใหม่

ผ่านจาก ตม. ญี่ปุ่น เข้ามาในโซนผู้โดยสารขาออก ระหว่างประเทศ มีร้านค้า Duty free และสินค้าแบรนด์ดังมากมาย ไม่แพ้สนามบินนาริตะเลย

และที่น่าสนใจก็เป็นร้านช๊อกโกแลต ROYCE คุณภาพดี ราคาไม่แพง เหมาะที่จะซื้อเป็นของฝาก

เครื่องบินจอดรอที่เกต 4

สนามบินคันไซช่วงเช้าบรรยากาศดีมาก มองเห็นวิวภูเขาและสะพานที่เชื่อมระหว่างสนามบิน (เกาะ) และ ฝั่งพื้นดิน

ที่นั่งรอขึ้นเครื่องก็กว้างขวาง สะดวกสบาย มีฟรี wifi ให้ใช้

9.20 น. ลูกเรือเรียกผู้โดยสารขึ้นเครื่อง ตามลำดับ Class

CX503 ให้บริการด้วยเครื่องบิน B777-300 (773Z) มีที่นั่ง Business Class 42 ที่นั่ง และ Economy Class 356 ที่นั่ง รวมผู้โดยสารสูงสุด 398 คน จัดว่าเป็นเครื่องบินที่จุผู้โดยสารได้สูงสุดของ Cathay Pacific เลย

การวางที่นั่งของผู้โดยสาร Economy Class แบ่งที่นั่งเป็น 3 – 3 – 3 หรือ ABC – DEG – HJK คนมาเป็นคู่สามารถเลือกที่นั่งส่วนตัวได้ที่แถว 77 – 78 มีที่นั่งคู่ในสองแถวนี้เท่านั้น เป็นช่วงท้ายเครื่อง ตัวเครื่องถูกบีบ ทำให้วางที่นั่งได้น้อยลง

ทุกที่นั่งมี PTV หน้าจอระบบสัมผัส + Joystick หูฟังจะใส่ที่เบาะด้านหน้า เที่ยวบินกลางวันจะไม่มีหมอนและผ้าห่มให้นะครับ แต่ถ้าต้องการก็สามารถขอกับลูกเรือได้

หูฟัง

Joystick

PTV มีรายละเอียดเหมือนกับขาไป

ปลั๊กไฟ AC ทุกที่นั่ง สามารถชาร์จโทรศัพท์ หรือ Tablet ได้

มีที่วางแก้วอยู่ใต้ถาดวางอาหาร

เบาะของเครื่องรุ่นนี้จะทำมาเอนนั่งสบาย ไม่จำเป็นต้องปรับเบาะเพิ่มอีกเลย ช่องวางเท้าก็ไม่แคบ

หลังจากที่เครื่องขึ้นได้ 30 นาที ลูกเรือก็เดินแจกของว่างและเครื่องดื่ม ของว่างจะเป็นถั่วนานาชนิด ส่วนเครื่องดื่มก็มีน้ำอัดลม น้ำผลไม้ และ เบียร์ ลูกเรือจะรินใส่แก้วให้เราเลือกหยิบ

ประมาณ 11:30 น. ทำการเสริฟมื้อกลางวัน เป็นข้าวเนื้อตุ๋น เปื่อยกำลังดี พร้อมสลัด ขนมปัง 1 ก้อน

13:20 น. เครื่องลงที่สนามบินฮ่องกงตามกำหนดเวลา เรามีเวลาต่อเครื่อง 1 ชั่วโมง 15 นาที ต้องพยายามทำเวลามาก

เดินตามป้าย Transfer ผ่านการตรวจสัมภาระ เกตขึ้นเครื่อง Dragon Air เป็นเกต 524 อยู่ไกลจากจุดที่เครื่องลงมากๆ ต้องนั่งรถไฟในสนามบินและเดินไป

เราใช้เวลาต่อเครื่องประมาณ 30 นาที เกต 520 – 525 เป็น Bus gate มีคนรอขึ้นเครื่องเยอะมาก ที่นั่งไม่เพียงพอ บรรยากาศแบบ Low cost Terminal อึดอัด

พนักงานเรียกขึ้นรถบัส และรถบัสพาไปขึ้นเครื่อง ผู้โดยสารส่วนมากเป็นชาวจีน มีคนไทยค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่ปลายทางเป็นเชียงใหม่

เที่ยวบิน KA232 ให้บริการด้วยเครื่องบิน A320

ขากลับเราได้ที่นั่งแถวที่ 34 ไม่ได้เป็น Extra-legroom Seats เหมือนขาไป ช่องวางขาแคบอย่างรู้สึกได้ชัด

ผู้โดยสารในเที่ยวบินนี้เกือบเต็มลำ ลูกเรือเป็นชาวเอเชีย ไม่จีนก็ฮ่องกง แต่ไม่มีคนไทย

หลังจากเครื่องรักษาระดับได้ ลูกเรือทำการเสริฟอาหาร มีให้เลือกอยู่ 2 เมนู ได้แก่ Seafood Pasta และ ติ่มซำ มีผลไม้ถ้วยเล็กๆ และของหวานที่ดูแล้วน่าจะเป็นรังนกในวุ้น

รสชาติโดยรวมก็พอกินได้ ไม่ได้ถึงขั้นแย่ หรือ อร่อย

16.40 น. เครื่องลงจอดที่สนามบินเชียงใหม่ บรรยากาศ ตม. ขาเข้าประเทศ ค่อนข้างวุ่นวายมาก ตม. มีไม่เพียงพอกับผู้โดยสารที่เพิ่งลงจากเครื่อง พื้นที่คับแคบ

เสร็จจาก ตม. เราก็ไปรับกระเป๋า และเรียก Taxi กลับบ้าน รีวิวสายการบิน Cathay Pacific เส้นทางเชียงใหม่ – โอซาก้า ก็ขอจบเพียงเท่านี้ครับ

Klook.com

สรุปโดยรวม

การบริการ : ทำได้ดี มีมาตราฐาน ลูกเรือแจกอาหารไว สุภาพ สมกับเป็นสายการบิน 5 ดาว และสายการบินที่ดี 1 ใน 3 ของโลก (จัดอันดับโดย Skytrax)

ความสะดวกสบาย : เครื่องใหม่ สะอาด ที่นั่งไม่แคบ เบาะปรับเอนสบาย ในส่วนของเส้นทาง เชียงใหม่ – ฮ่องกง ที่ให้บริการโดย Dragon Air มีข้อเสียที่ไม่มี PTV

ข้อเสีย : ไม่สามารถระบุที่นั่งได้ตอนที่ซื้อตั๋ว ต้องรีบไปเช็คอินก่อนเครื่องออก 48 ชั่วโมง เพื่อเลือกที่นั่ง, ขาไปค่อนข้างเหนื่อย ไม่มีเวลานอน ได้แค่งีบ ส่วนขากลับ หมดเวลาไปเต็มๆ วัน และต้องรีบวิ่งไปต่อเครื่อง

ความคุ้มค่า : ด้วยราคา 16,825 บาท กับสายการบิน Full Service มีอาหารทาน โหลดกระเป๋าได้ มี PTV แถมเป็นช่วง Hi season ของญี่ปุ่น ถือว่าคุ้มค่ามาก ถูกกว่าการไปต่อเครื่องที่กรุงเทพฯ มาก

Post Views 18847

admin

นักเขียนประจำ emagtravel.com

9 thoughts on “รีวิวสายการบิน Cathay Pacific เส้นทางเชียงใหม่ – โอซาก้า ต่อเครื่องที่ฮ่องกง

  • November 7, 2016 at 5:39 pm
    Permalink

    ต่อไปdragonair จะมีจอส่วนตัวมั้ยคับ

  • November 7, 2016 at 7:39 pm
    Permalink

    ตอบคุณ ขุนเดช

    คิดว่าไม่น่ามีครับ Dragon Air เป็นบริษัทลูกของ Cathay จุดประสงค์ของ Dragon Air น่าจะไว้พาคนมาต่อเครื่อง Cathay ที่ฮ่องกง

  • November 30, 2017 at 1:50 pm
    Permalink

    รบกวนถามคะ ตอนขากลับเรานั่งรถไปมาจากสนานีนัมบะรถไฟนันไกจะจอดที่terminal1เลยใช่ป่าวคะ แล้วขึ้นไปcheck in ชั้นไหนคะ

  • November 30, 2017 at 2:38 pm
    Permalink

    ตอบคุณ Toonny

    เมื่อถึงสนามบินแล้วให้ขึ้นไปที่ชั้น 2 จะมีทางเชื่อมไปยัง T1 และ Counter check in จะอยู่ชั้น 4 อย่างไรก็ตามควรเช็คกับจอสนามบินอีกครั้งครับ ว่าเราต้องไปเช็คอินที่ ROW ไหน
    แผนที่สนามบินคันไซ http://www.kansai-airport.or.jp/en/map/pdf/map.pdf

  • February 11, 2018 at 11:46 am
    Permalink

    ขอบพระคุณมากๆเลยคะ

  • March 16, 2018 at 6:46 am
    Permalink

    รบกวนสอบถามครับ ตอนที่ agency ออกตั๋วให้ มีการระบุที่นั่งเรียบร้อยแล้ว ยังต้อง check in online เพื่อจองที่นั่งอีกหรือครับ

  • March 16, 2018 at 11:46 am
    Permalink

    ตอบคุณ กำธน

    Economy ไม่สามารถระบุที่นั่งตอนซื้อตั๋วได้ครับ ถ้าเห็นเลขที่นั่งใน E-ticket คงเป็นที่ระบบจองใส่เลขมาให้

    ถ้าอยากรู้ว่ามีที่นั่งจริงไหม ลองเข้าไปดูที่ Manage booking ได้ครับ https://www.cathaypacific.com/cx/en_TH/manage-booking/manage-booking/manage-booking-now.html

  • March 19, 2018 at 11:55 am
    Permalink

    สวัสดีคะถ้าเราไปต่อเครื่องที่ฮ่องกงตอนไปถึงสนามบินเราต้องนั่งรถไฟฟ้าเพื่อไปtranferถูกต้องไหม่คะ(ทางบังคับ)หรือมีทางอื่นที่ต้องไปคะ
    ขอบคุณคะ

  • March 19, 2018 at 2:21 pm
    Permalink

    ตอบคุณ Toonny

    การจะนั่งรถไฟภายในสนามบินหรือไม่ ขึ้นกับว่าเราลงที่ Terminal ไหน และจะบินต่อที่ Terminal ไหนครับ

    ขั้นตอนก็มีเพียงเดินตามป้าย Transfer และ ไปยังเกตที่เราจะขึ้นเครื่องครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *